ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ความหมายและความสำคัญ ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, June 14, 2024December 25, 2024 Post Views: 20 นับตั้งแต่“ยุทธศาสตร์”(Strategy) ได้รับการบรรจุเป็นคำสำคัญ(Key Word) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ในช่วงปี พ.ศ.2540-2544 ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการตื่นตัวและสนใจในการศึกษาถึงระเบียบวิธีในการนำมาใช้ในองค์กรและนโยบายสาธารณะของประเทศไทย ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัย ยังได้มีการนำระเบียบวิธีทางยุทธศาสตร์มาปรับใช้ และจัดทำหลักสูตรให้รองรับแนวคิดด้านยุทธศาสตร์ เพื่อใช้ในการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จุดเด่นของความเป็น “ยุทธศาสตร์” คือ ความเป็น methodology (ระเบียบวิธี) มิใช่ศาสตร์เฉพาะ ส่งผลให้มีการเปิดกว้างให้กับทุกกลุ่มสาขาอาชีพนำไปใช้ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการจัดการภาครัฐและเอกชนให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนมีนโยบายตามหลักการ “มุ่งลงใต้”ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road(Mau,K And Seuren,R,2022) หรือเส้นทางสายไหมเส้นใหม่(ผู้เขียน) ที่มุ่งเน้นฝ่าวงล้อมจากการปิดกั้นของมหาอำนาจตะวันตกโดยการนำของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง[1] ปรับตัวขนานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้ยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขัน การแสวงหาโอกาสจากการค้าการลงทุน การปรับตัวและรวมทั้งการเอาตัวรอด พร้อมทั้งการรับมือสถานการณ์ของสังคมโลกและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นที่น่าสนใจว่า ประเทศต่างๆเหล่านี้มียุทธศาสตร์ในการปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การทำความเข้าใจทางยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคโดยภาพรวม จะเป็นผลดีต่อการทำความเข้าใจสืบเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดความสามารถเชื่อมต่อไปได้ในทุกเนื้อหาของบทความนี้ ความหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ยุทธศาสตร์มีต้นกำเนิดในภาษากรีกจากคำว่า Strategos ซึ่งหมายถึงนายพลหรือผู้ที่มีอำนาจในกองทัพ (Mckeown,M,2012) และมีการนำไปใช้ครั้งแรกในกรุงเอเธนส์(508 ปีก่อนคริสตกาล)โดยนายพลจำนวน 10 นายในสภาการสงครามที่มีทักษะในด้านการจัดการ พัฒนาทักษะของตนเองไปสู่ศิลปะความเป็นผู้นำในการจูงใจการทำสงครามของทหาร อันนำไปสู่ให้การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ของกองทัพ และขณะเดียวกันยังมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับยุทธศาสตร์ของเอเธนส์ คือ แนวความคิดตำราพิชัยสงครามของซุนวูซึ่งมีการเขียนและถ่ายทอด จนถึงปัจจุบันยังมีผู้คนส่วนใหญ่นำไปประยุกต์ใช้กับหน้าที่การงานและรวมถึงแนวทางในการพัฒนาองค์กรของตนเอง(Grant R, M. & Jordan,J,2015) ส่งผลกระทบเชิงบวกกับผู้ที่นำไปใช้และสังคมจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการนำ คำว่า ยุทธศาสตร์ มาใช้ในวงการทางธุรกิจ การเมือง การทหาร การปกครอง ตลอดแม้กระทั่งในวงการศึกษาของประเทศไทย แต่ก็ยังมีการสับสนในการนิยามถึงความหมายและการนำไปใช้ ผู้เขียนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนิยามตามทัศนะของนักวิชาการ และผู้รู้ต่อไปนี้ J. Boone Bartholomees, Jr.(2006) ได้ยกคำกล่าวของ คาร์ล ฟ็อน เคลาเซอวิทซ์(Clausewitz) นักการทหารชื่อดังชาวเยอรมัน ปรัสเซีย(เยอรมันในปัจจุบัน,ผู้เขียน) ดังข้อความต่อไปนี้ คือ “ยุทธศาสตร์คือการสู้รบเพื่อจุดประสงค์ของการทำสงครามและเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทั้งหมดของสงครามและใช้ระยะเวลายาวนาน นักยุทธศาสตร์จึงต้องทำแผนสงครามหรือแผนการรบ เพื่อจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติทั้งหมดในสนามรบ และจุดมุ่งหมายในแต่ละครั้งของสนามรบก็ต้องมีชุดปฏิบัติการของจุดมุ่งหมายนั้นๆ และในแต่ละชุดปฏิบัติการจะต้องมีวิธีการเพื่อให้ได้รับชัยชนะ” และ“ยุทธวิธีคือศิลปะของการใช้กองกำลังในการต่อสู้ กลยุทธคือศิลปะของการต่อสู้เพื่อเอาชนะสงคราม” จากข้อความ อาจจะวิเคราะห์ได้ในระดับหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์หรือ Strategy มักมีการใช้กันในวงการทหาร แต่เมื่อมีการประยุกต์ใช้ในทางสังคม การบริหารการพัฒนา การบริหารธุรกิจ วงการศึกษาหรืออื่นๆที่พลเรือนปฏิบัติ จะนิยมใช้คำว่า “กลยุทธ์” อันเนื่องจากความดุดันในภาษาจะน้อยลง จึงมีการปรับใช้แทนคำว่า ยุทธศาสตร์ แต่ก็ยังมีการใช้ภาษาอังกฤษร่วมกันคือ Strategy อย่างไรก็ตาม คำว่า ยุทธศาสตร์ ยังเป็นที่นิยมใช้กับการบริหารการพัฒนา ที่อาศัยอำนาจทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง มีความต้องการใช้งบประมาณที่มีปริมาณมาก จึงสะท้อนออกมาในลักษณะของเป้าหมายนโยบายสาธารณะ ที่ส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์แห่งภาครัฐเป็นอย่างมาก(Feurer,R and Chaharbaghi,K,1995) Andrews, K.R(1971) นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์รุ่นบุกเบิกของโลก ได้อธิบายความหมายของยุทธศาสตร์ ว่า หมายถึง กระบวนการตัดสินใจ ที่มีเหตุผลภายใต้ทรัพยากรขององค์กรและการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย และThorelli, H.B(1977) และ Aldrich, H.E(1979) ยังได้เพิ่มอีกว่า ยุทธศาสตร์เป็นความสามารถขององค์กร ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการในการเข้าถึงวัตถุประสงค์หลักขององค์กรอย่างแท้จริง ฉะนั้นมองว่า นักวิชาการรุ่นบุกเบิกทั้ง 3 ท่าน ได้นิยามความหมายของยุทธศาสตร์ในลักษณะของวิธีการเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และการขับเคลื่อนองค์กรเป็นอย่างดี Porter, M,E(1996) ซึ่งเป็นกูรูทางด้านการบริหารจัดการของโลก ได้นิยามความหมายของยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากนักวิชาการรุ่นก่อน โดยได้กล่าวถึงความหมายของยุทธศาสตร์ ว่า หมายถึง การสร้างความแตกต่างขององค์กรที่มีต่อคู่แข่ง และสามารถรักษาหรือยืนระยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่ความพยายามในการเอาชนะคู่แข่ง หรือพยายามบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรโดยใช้ทรัพยากรของตนเอง และการพึ่งพาระบบจากแหล่งอื่น จนไม่สามารถสรรค์สร้างนวัตกรรมการเอาตัวรอดของตนเองได้เลย ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องคือ ความสามารถในการส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับสภาพบริบทและสิ่งแวดล้อมที่แย่กว่าหรือเท่ากัน เช่นกรณีของความสามารถในการสรรหาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกัน ยังมีความมุ่งเน้นให้เกิดความแตกต่างของการใช้ต้นทุนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่นกรณีของการกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรเกิดความรู้ ความเข้าใจและการสร้างค่านิยมร่วมให้ครอบคลุมเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ให้มากที่สุด ทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพอย่างแท้จริงอันนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด ทำให้องค์กรมีความอยู่รอดได้ในระยะยาว กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค หมายถึง ความสามารถในการสร้างคุณค่าต่อเป้าหมายของนโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ ระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบกิจกรรมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันส่งผลต่อการพัฒนาเป็นวงกว้าง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และสภาพบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คุณสมบัติของความรอบรู้ในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคจึงสำคัญมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรงในการปรับใช้ยุทธศาสตร์กับพื้นที่ที่ต้องการพัฒนา ความถูกต้องทางวิชาการ ตลอดจนถึงการนำผลการวิเคราะห์การใช้ยุทธศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการปรับใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคในแต่ละครั้ง ส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในพื้นที่ โดยการขับเคลื่อนขององค์กรภาครัฐและเอกชน จุดเริ่มต้นที่ดี จึงมักสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคโดยจะมีการกล่าวถึงในลำดับถัดไป ความเป็นมาและความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค นับตั้งแต่นายพลจำนวน 10 นายได้นำยุทธศาสตร์ไปใช้กับทหารในกองทัพของกรุงเอเธนส์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับทหารในการทำสงครามในช่วง 508 ปีก่อนคริสกาล ส่งผลให้ยุทธศาสตร์มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ยุคนั้น ขณะเดียวกันทางฝั่งโลกตะวันออกยังมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันคือตำราพิชัยสงครามที่เขียนโดย “ซุนวู” ปราชญ์จีนผู้โด่งดังในจีนสมัยโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล กลายเป็นสมมติฐานที่นำไปสู่การอ้างอิงแนวทางในการยุทธ์มาโดยตลอด จนกลายเป็นต้นแบบของการนิยามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสังคม โดยมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางและมีการนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน จนมีการใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่วงการกีฬาตลอดจนถึงศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้(Freedman,L,2017) ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะของการบริหารราชการแผ่นดินของทุกประเทศในปัจจุบัน ตลอดจนกระทั่งมีการรวมกลุ่มประเทศเพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกัน เช่นกรณีของระเบียงเศรษฐกิจต่างๆในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กรอบความร่วมมืออาเซียน และหรือการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อปรัชญาการดำรงอยู่ของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกล่าวถึง การนำยุทธศาสตร์ไปใช้กับการบริหาราชการแผ่นดินและหรือการบริหารนโยบายสาธารณะของประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกในปัจจุบัน ได้รับแบบอย่างมาจากนโยบายทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก กล่าวคือ เริ่มต้นจาก แผนการมาแชล( Marshall Plan) หรือชื่อทางการคือ European Recovery Program (ERP) ตามชื่อ จอร์จ ซี มาร์ซล รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้นำเสนอแผนดังกล่าวทั้งนี้แผนการมาแชลเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยออกแบบมาเพื่อมุ่งทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ 17 ประเทศในยุโรปตะวันตกและใต้หลังสงครามโลกที่ 2 โดยการอนุมัติงบประมาณจำนวน 13 พันล้านดอลลาร์ ในการดำเนินความช่วยเหลือทางการเงิน ความรู้ วัสดุ และสิ่งของ รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินให้กับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งในรูปของเงินกู้หรือให้เปล่า ส่งผลต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตก และมีบทบาทสำคัญในช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรกของกระบวนการบูรณาการและการจัดการทั้งทางการเมือง การปกครองระหว่างประเทศในทวีปยุโรป โดยมีการสร้างสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อควบคุมปัจจัยทางด้านการค้าระหว่างประเทศ บทบาทและความสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุโรปจึงมีมากขึ้น ผนวกกับแผนการมาแชลยังเป็นที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ดังกรณีของการให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และการประกอบธุรกิจในภาคพื้นยุโรป ส่งผลต่ออิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศในยุโรป เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “การทำให้เป็นอเมริกัน” (Ludwig,C,2018) นี่คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญ อันส่งผลต่ออำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ “การทำให้เป็นอเมริกัน” ไม่ส่งผลกระทบต่อยุโรปตะวันตกมากนัก สืบเนื่องจากมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน การปะทะสังสรรค์ทางยุทธศาสตร์จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางการเมืองและเศรษฐกิจ แตกต่างจากการเข้าไปช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา ในฝั่งทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้างจากการดำเนินยุทธศาสตร์โดยใช้แผนการมาแชลที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อกระบวนทัศน์ในการพัฒนาระยะยาว อันเนื่องมาจากบริบท สังคม วัฒนธรรมที่ต่างกัน มีความขัดแย้งทางความคิด กระทบต่อความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น(ปัจจุบันสหพันธรัฐรัสเซีย,ผู้เขียน) กลายเป็นสงครามเย็น ลุกลามไปทั่วโลก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลักดันให้สหรัฐอเมริกา ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งอย่างเต็มตัว ส่วนหนึ่งเพื่อดำรงสถานะภาพของตนเองไว้ ก่อให้เกิดปัญหาสงครามทางการเมืองและปัญหาอื่นๆตามมามากมาย สุดท้าย สหรัฐอเมริกาต้องกลับมาทบทวนประเด็นการใช้ยุทธศาสตร์ของตนเอง และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ กลายเป็นแนวคิดในการบริหารการพัฒนา อันเปรียบเสมือนวิธีการนำไปสู่เป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่มีความสามารถในการปรับตัวและประยุกต์ได้ด้วยตัวของมันเองตลอดเวลา (Feurer,R and Chaharbaghi,K,1995) ประสิทธิภาพของการบริหารการพัฒนา สามารถพิจารณาได้จากการประยุกต์ใช้กับการบริหารโครงการขนาดใหญ่เพื่อการจัดการน้ำและการเกษตรในหุบเขาเทนเนสซี่(Tennessee Valley Authority :TVA) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีการวางเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา จนประสบผลสำเร็จ การประยุกต์ใช้หลักการในการบริหารพัฒนาในครั้งนั้นกลายเป็นแบบอย่างของการบริหารการพัฒนาในปัจจุบัน รวมทั้งการสังเคราะห์แนวความรู้อื่นๆ เช่นการบริหารจัดการองค์กร การบริหารภาครัฐ โดยมูลนิธิฟอร์ดซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก(George F. Gant,1979) ทั้งจากการเข้ารับการศึกษาของประชาชนประเทศด้อยพัฒนาในสหรัฐอเมริกา(โดยการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา)และหรือการเข้ามาให้คำปรึกษา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากกลไกของการปล่อนสินเชื่อระยะยาวทั้งในรูปแบบการให้กู้และให้เปล่า จากนั้นเป็นต้นมา การบริหารการพัฒนา นอกจากจะใช้สำหรับการบริหารนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้ายมีการประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวไปสู่แนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร(ในสมัยนั้น) นำเอาคำว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนา มาใช้เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล กลายเป็นไวรัล[2](Viral Marketing) ซึ่งเป็นที่สนใจในวงราชการ เอกชน และนักวิชาการ อีกทั้งยังมีการนำหลักการของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการจัดตั้งกลุ่มจังหวัด 19 กลุ่มจังหวัด และพัฒนากลายเป็นรูปแบบการบูรณาการในลักษณะภาค ในยุคของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากนั้นยังมีการจัดทำหลักสูตรยุทธศาสตร์การพัฒนา(ยุคคลาสสิค) และหลักสูตรยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค(ยุคปัจจุบัน)ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นิยมจัดการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา จากประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคดังกล่าวข้างต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค อาจพิจารณาเปรียบเสมือนเครื่องมือในการนำไปสู่ความงอกงามสุขภาวะทาง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน มักเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค จึงเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเป็นอนิจจังของจักรวาลอย่างเที่ยงแท้แน่นอน ทั้งในรูป ความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน และตั้งอยู่ในสภาวะเดิมได้ยาก ดังปรากฏอยู่ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใช้และหรือประเทศเหล่านั้นจะนำยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคไปในทางด้านใด ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค นอกจากจะนำไปสู่ความเจริญงอกงามของพื้นที่ในระดับมหภาคแล้ว ส่วนหนึ่งคือการเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดปัญหาทุกข์ร้อนทั่วโลก ทั้งจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสงครามในประเทศ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาการก่อการร้าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ และการเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ฯลฯ การปรับกระบวนทัศน์ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค จึงต้องปรับเปลี่ยนจากคุณลักษณะที่มีความแข็งกร้าว เป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนั้น ลักษณะของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาให้เกิดความงอกงามอย่างแท้จริง คือสิ่งสำคัญที่สุด [1] ประกอบไปด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน(ตอนใต้) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งต่อไปนี้ ผู้เขียนจะใช้ชื่อว่า จีน สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมา เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงทั้งเล่ม) [2] หมายถึง การสื่อสารแบบปากต่อปากอย่างรวดเร็ว ทั้งจากเครื่องมือสื่อสาร และสื่อออนไลน์ โดยศัพท์คำว่า ไวรัล เกิดจากการนำคำสองคำมารวมกันคือ VIRUS+ORAL หรือ เชื้อโรค+ปาก รวมกันใหม่แปลว่า ปากต่อปาก โดยใช้สื่อออนไลน์ คำว่า ไวรัล ไม่มีปรากฏในการใช้ของช่วงระยะเวลาดังกล่าว การอธิบายเพื่อให้สามารถเข้าใจได้โดยง่าย เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ NEC