มหายุทธศาสตร์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง : ความหมาย ความสำคัญของมหายุทธศาสตร์ ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, November 5, 2024December 25, 2024 Post Views: 91 ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนเเรงระหว่างประเทศและชาติมหาอำนาจ ทั้งในส่วนของสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย ตลอดจนชาติต่างๆในตะวันออกกลาง ที่ในปัจจุบันเริ่มมีความขัดเเย้งครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลกับชาติตะวันออกกลางอื่นๆ ตลอดจนความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เริ่มมีการรุกล้ำทั้งในส่วนของการขยายอาณาเขตทางธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งเเวดล้อม จนทำให้รัฐชาติในเเถบนี้เริ่มที่จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการศึกษาถึงเเนวทางในการพัฒนาประเทศเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนความพยายามของจีนที่จะมุ่งลงใต้โดยผ่านทางประเทศไทยให้ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาถึงมหายุทธศาสตร์ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักยุทธศาสตร์ นักวิชาการ และนักบริหารระดับสูงของภาครัฐ โดยการมุ่งความสนใจไปที่คำถามลำดับสูงสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ คำว่า why, how,what purposes (ทำไม อย่างไร และวัตถุประสงค์เพื่ออะไร) ต่อจากนั้น ผู้บริหารของรัฐจึงต้องใช้อำนาจของตนเอง(ชาติ)ที่มีอยู่ในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการอุดรูรั่วอำนาจทางการทหารที่มีอยู่ มหายุทธศาสตร์ที่ดีจะมีส่วนในการกำหนดบทบาทระหว่างประเทศของตนเองได้ ตลอดจนการชี้เเนะแนวทางและวิธีการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายเหล่านั้นเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อหันกลับมามองมหายุทธศาสตร์ของหลายๆประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน ยังไม่มีความสอดคล้องและปะติดปะต่อ และยากต่อการนำทาง อันเนื่องจากข้อเสียของการเมืองในระดับประชาธิปไตยคือการไม่ต่อเนื่องและไม่มั่นคง และในส่วนของการเมืองฝั่งสังคมนิยมก็ยังมีลักษณะของการสั่งการเเบบ Top Dow องค์ความรู้ทางวิชาการจึงมีน้อย ในบทความวิชาการว่าด้วย มหายุทธศาสตร์ จึงมีวัตถุประสงค์ขจัดความสบสน ความไม่ปะติดปะต่อ และความยากต่อการนำทาง การชี้นำที่ปราศจากวิชาการที่ชัดเจน โดยในบทความว่าด้วยมหายุทธศาสตร์ ผู้เขียนจะเเบ่งออกเป็น 3 หัวข้อด้วยกันคือ หัวข้อที่ 1 การทบทวนวรรณกรรมของมหายุทธศาสตร์ โดยการมองถึงความหมาย ความสำคัญ ในฐานะตัวเเปรเชิงกลยุทธ์ของรัฐชาติ หัวข้อที่ 2 กระบวนการและแผนการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐชาติ หัวข้อที่ 3 มหายุทธศาสตร์ในฐานะพิมพ์เขียวของรัฐชาติ โดยทั้ง 3 หัวข้อนี้ เป็นการนำเสนอแนวทางเชิงวิสัยทัศน์ให้กับอิทธิพลเชิงพฤติกรรมของหน่วยงานรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนยุทธศาสตร์ของตนเองในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อการคงอยู่อย่างมั่นคงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป การทบทวนวรรณกรรมของมหายุทธศาสตร์ ความหมายความสำคัญของมหายุทธศาสตร์ ก่อนกล่าวถึงความหมายของมหายุทธศาสตร์ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง ความหมายของคำว่า ยุทธศาสตร์ก่อน อันเนื่องจากเป็นที่รู้จักมักคุ้นในวงวิชาการและวงการราชการของประเทศไทย และทั่วโลกในปัจจุบัน ดดยคำว่า ยุทธศาสตร์ มาจากคำในภาษาอังกฤว่า Strategy ทั้งนี้ คำว่า Strategy มาจากรากศัพท์ของคำว่า Strategos ซึ่งเเปลว่า นายพลในวงการทหาร หรือบางแห่งของจักรวรรดิโรมันเรียกว่า ราชการทหาร ซึ่งกล่าวง่ายๆคือราชการในการสงครามขณะนั้น และเมื่อมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับราชการทหาร จึงได้ปรากฏเป็นคำว่า Strategy ขึ้นมาซึ่งเเปลตรงตัวว่าศิลปะของนายพล หรือศิลปะของผู้นำทางทหาร และกลายเป็นคำว่า ยุทธศาสตร์ ในที่สุด สำหรับยุทธศาสตร์นั้นมีการเริ่มใช้ตั้งเเต่ศตวรรษที่ 6 โดยโรมันตะวันออกและได้รับการยอมรับให้มีการใช้ทั่วไปในศตวรรษที่ 18 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 20 จึงมีความหมายครอบคลุมถึงวิธีการที่ครอบคลุมถึงความพยายามในการเเสวงหาจุดมุ่งหมายทางการเมือง รวมทั้งการคุกคามหรือการใช้กำลังภายใต้ศักยภาพและการใช้วิภาษวิธีในการพิจารณาถึงเจตจำนงทางการทหารกับคู่ขัดเเย้ง ทั้งนี้เป็นความขัดเเย้งที่เกิดขึ้นจากการเเย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญขององค์การ ประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ตลอดจนทำหน้าที่ในการอธิบายว่า องค์การ ประเทศนั้นๆจะสามารถดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในส่วนของ Clausewitz (Bartholomees, 2006)กล่าวถึงความหมายของยุทธศาสตร์ ในมุมมองเฉพาะด้านการทหารและเป็นมุมมองในระดับยุทธการ (Operational Level) หรือยุทธบริเวณ (Theater Strategy) หรือการทัพ (Campaign) ไว้ว่า “…ยุทธศาสตร์ คือ การใช้การสู้รบตามความมุ่งประสงค์ของสงคราม นักยุทธศาสตร์จึงต้อง กำหนดจุดมุ่งหมายสำหรับการปฏิบัติทั้งปวงในสงคราม เพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์นั้น กล่าวได้อีกนัยหนึ่งคือ นักยุทธศาสตร์ต้องทำแผนสำหรับการสงคราม และเป้าหมายของสงครามจะกำหนดชุดของการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น นั่นคือ การกำหนดรูปแบบของ การทัพและภายในการทัพนั้น ต้องกำหนดวิธีรบในแต่ละขั้น เพื่อให้ได้รับชัยชนะ” Scott (Bartholomees, 2006 : 79) นักวิชาการทหารในยุคสงครามกลาง เมืองของสหรัฐอเมริกา (Civil War) ได้ให้ความหมายที่ยังคงจำกัดอยู่ในบริบททางการทหารและ ยุทธบริเวณ ไว้ว่า “ยุทธศาสตร์เป็นศิลปะของการผสานการวางแผนการทัพรวมกันกับระบบปฏิบัติการทางทหาร โดยพิจารณาถึงเป้าหมายที่ต้องการบรรลุคุณลักษณะของข้าศึก ธรรมชาติ และทรัพยากรของประเทศ รวมถึงทรัพยากรในการโจมตี และป้องกัน” Hart ( Bartholomees, 2006 : 80) เป็นนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการ ทางทหารได้กล่าวไว้ว่า “…ยุทธศาสตร์ คือ ศิลปะของการกระจายและการประยุกต์ทรัพยากรทางทหาร เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายของนโยบาย … ยุทธศาสตร์ จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับประการเดียวและประการสุดท้าย คือ ต้องมีการคำนวณและมีการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายและทรัพยากร เป้าหมายจะต้องได้สัดส่วนกับทรัพยากรทั้งหมดที่มีและทรัพยากรนั้น ใช้ในการบรรลุเป้าหมายระหว่างทางจนไปถึงเป้าหมายขั้นสุดท้าย อีกทั้งต้องสอดคล้องกับคุณค่าและความจำเป็นของเป้าหมายระหว่างทาง ที่นำไปสู่ความมุ่งประสงค์ขั้นสุดท้ายที่ต้องการไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ที่ปรารถนา การใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปจะเกิดภัยอันตราย” โดยสรุป ยุทธศาสตร์ จึงหมายถึง ศิลปะที่ใช้ในการรบและการสงครามของทหารที่มีต่อข้าศึก ตลอดจนความพยายามกระทำการใดๆเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ขององค์การ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายระหว่างทางไปจนถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยอาจจะเป็นการเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องอาณาบริเวณและทรัพยากรต่างๆด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงยุทธศาสตร์จึงไม่สามารถมองได้เเค่เรื่องภายในเท่านั้น แต่อาจจะต้องมองไปจนถึงเรื่องของอาณาบริเวณและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหรือขององค์การเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ดีจึงต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาวงกว้างของพื้นที่ ขององค์การ และของความสัมพันธ์(ทั้งการค้าและการสู้รบ) ของประเทศเป็นประการสำคัญ ซึ่งนั่นก็คือ ความเป็นมหายุทธศาสตร์ เมื่อกล่าวถึง คำว่า มหายุทธศาสตร์ มาจากคำภาษาอังกฤว่า Grand Strategy โดยคำว่า Grand เป็นการขยายคุณศัพท์ของคำว่า Strategy เพราะฉะนั้น Grand Strategy จึงหมายความว่า มหายุทธศาสตร์ เมื่อขยายความของคำๆนี้ จึงหมายถึง แนวคิดในภาพรวมเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือของกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งในยามปกติและหรือยามสงคราม(โสภณ ศิริงาม,2560) โดยอาจจะครอบคลุมระยะเวลาตั้งเเต่ 5 ปีขึ้นไป และมีระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่า 10 ปี โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุม สังคม เศรษฐกิจ สิ่งเเวดล้อมและความมั่นคง เช่นเดียวกับที่ Hart ได้กล่าวไว้ว่า ยุทธศาสตร์เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดคำนึงถึงการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายและทรัพยากร เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมองถึงเป้าหมายมีลักษณะแบบไหน มักจะมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวโยงกับทรัพยากรทั้งปวงของประเทศและของกลุ่มประเทศเสมอ มหายุทธศาสตร์ที่ดีจึงต้องผ่านกระบวนการในการคำนวณและการพัฒนาศักยภาพด้านประชากรเพื่อให้สะท้อนเห็นถึงประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ สังคมที่มี่อยู่เพื่อใช้ในการสู้รบยามสงคราม(Hard Power) หรือเเม้กระทั่งการใช้อำนาจในลักษณะอื่น(Soft Power) โดยในปัจจุบันหลายๆประเทศได้มีการกำหนดมหายุทธศาสตร์ของตนเองขึ้น เช่น อังกฤษใช้คำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ(National Strayegy) สหรัฐอเมริกาใช้คำว่ายุทธศาสตร์ความมั่นคงเเห่งชาติและกลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติในเวลาต่อไป ส่วนจีนใช้คำว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติจีน ในส่วนของไทยเราใช้คำว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในบทความต่อไปผู้เขียนจะขอกล่าวถึง มหายุทธศาสตร์ ในฐานะตัวเเปรเชิงกลยุทธ์ของรัฐชาติต่อไป อ้างอิง โสภณ ศิริงาม.(2560).ตัวแบบในการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธศาสตร์ชาติในศตวรรษที่ 21.วิทยาลัยป้องกันราช อาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. J. Boone Bartholomees, Jr., ed.(2006).“U.S. Army War College Guild to National Security Policy and Strategy”, (2nded.) Department of National Security and Strategy, Carlisle Barracks : U.S. Army War College. ยุทธศาสตร์ NEC