ยุทธศาสตร์การพัฒนา:แนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา//กลุ่มสำนักคิดที่เป็นเชิงข้อเสนอ EP1 ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, January 27, 2025January 30, 2025 Post Views: 82 นับตั้งแต่มีการนำเอาแนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนามาใช้ในประเทศไทย หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มมีการนำแนวคิดที่ได้จากการประยุกต์ใช้จากแนวคิดและทฤษฎีของต่างประเทศมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการปรับใช้ตั้งแต่ชื่อเรียกยุทธศาสตร์และคำว่ากลยุทธ์ดังระเบียบวิธีที่แตกต่างกัน โดยภาครัฐในยุคแรกเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 มีการนำคำว่ายุทธศาสตร์การพัฒนา(Strategy Development) มาเป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในส่วนของหน่วยงานภาคเอกชน ได้มีการประยุกต์ใช้คำว่า Strategy มาใช้ในการจัดการองค์กรของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน(วิกรม บุญนุ่น,2567) ขณะเดียวกัน การกำหนดยุทธศาสตร์ตลอดจนวิธีการกำหนดกลยุทธ์มักจะมีกระบวนการในการกำหนดคล้ายๆกัน ทั้งนี้ แนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 สำนักคิดดังนี้(วิกรม บุญนุ่น,2567;ไพบูรณ์ โพธิ์สุวรรณ,2555) กลุ่มสำนักคิดที่ 1 กลุ่มสำนักคิดที่เป็นเชิงข้อเสนอ เป็นกลุ่มสำนักคิดที่มุ่งนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการก่อตัวของยุทธศาสตร์องค์การ โดยมีด้วยกัน 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่แนวความคิดเชิงข้อเสนอ มี 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่ 1 สำนักออกแบบ จะเน้นการวิเคราะห์ศักยภาพขององค์การโดยวิธีการวิเคราะห์ SWOT Analysis เป็นวิธีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์การทั้งในส่วนของสภาพแวดล้อมภายนอก(รู้เขา)แบ่งออกเป็นโอกาสและอุปสรรค และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน(รู้เรา) โดยแบ่งออกเป็นจุดอ่อนและจุดเเข็ง ทั้งนี้ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในเป็นกระบวนการของการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ภายหลังจากการกำหนดวิสัยทัศน์(Vision) พันธกิจ หรือภารกิจ (Mission) และวัตถุประสงค์ขององค์การ(Objective) และเมื่อมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโดย SWOT Analysis(ทั้งในส่วนของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกหรือ External Analysis และ Internal Analysis) จึงจะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Choice) ตลอดจนการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ(Strategic Implementation) ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ความเชื่อของผู้นำ ผู้บริหาร เพื่อนำไปสู่การสร้างข้อได้เปรียบขององค์การ(Competitive Advantage) ในการแข่งขันต่อไป กลุ่มที่ 2 สำนักการวางแผน โดยสำนักคิดการวางแผนเป็นสำนักคิดที่ยอมรับเอาแนวความคิดของสำนักคิดออกแบบ โดยมีรากฐานจากทฤษฎีระบบ(ไพบูรณ์ โพธิ์สุวรรณ,2555) หรือ System Theory และระบบเครือข่าย ทั้งนี้คุณูปการของสำนักคิดวางแผนคือ กระบวนการในการนำผลจากการวิเคราะห์ SWOT ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักเชิงข้อเสนอเป็นแต่เพียงการกำหนดยุทธศาสตร์เท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ จะดำเนินการอย่างไรให้มีการนำยุทธศาสตร์ที่ได้รับการกำหนดไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายที่สุด ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำเอาทฤษฎี Logic framework มาใช้ในการนำยุทธศาสตร์ที่ได้รับการกำหนดไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นระบบมากที่สุด โดย Logic framework เป็นการดำเนินกิจกรรมจาก การพิจารณา 1.เป้าหมายขององค์การ(Goal) 2.วัตถุประสงค์(Objectives) 3.ผลลัพธ์(Outputs) 4.กิจกรรม(Activities) และ 5.ปัจจัยนำเข้า(Inputs) ภายใต้หลักการของ ตัวบ่งชี้ที่สามารถดำเนินการได้(Objectively Verifiable Indicators) วิธีการประเมินผล(Means of Verification) และเงื่อนไขของความสำเร็จหรือสมมติฐานของความสำเร็จ(Assumptions) ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐของไทยนิยมนำเอา logical framework ที่มีอยู่ในทฤษฎีต่างๆที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ และหรือรูปแบบการจัดการภาครัฐของประเทศไทย ในปัจจุบัน เช่น ลิขิตสมดุลหรือ Balanced Scorecard ซึ่งนำมาใช้ในการวัดผลการดำเนินงานขององค์การภาครัฐในแต่ละมุมมอง หรือการดัดแปลง logical framework ไปใช้เป็นระบบ XYZ เพื่อนำไปใช้สำหรับการเขียนโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐเป็นต้น กลุ่ม ที่ 3 สำนักคิดการวางตำแหน่ง เป็นสำนักคิดที่มีรายละเอียดการดำเนินงานเช่นเดียวกับสำนักคิดออกแบบและสำนักคิดวางแผนแต่ยังมีรายละเอียดมากกว่าคือเรื่องไหนควรทำอย่างไร โดยในทางยุทธศาสตร์ เรียกว่า ยุทธวิธี ในสำนักคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากซุนวู(ไพบูรณ์ โพธิ์สุวรรณ,2555) ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ การรวมใจเป็นหนึ่งเดียว สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ ผู้นำ และระเบียบวินัย โดยทั้ง 5 ประการนี้ให้ความสำคัญกับกรอบการรู้แจ้งทั้งของตนเอง และของคู่สงครามหรือคู่แข่ง และในการกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์การนั้น สำนักคิดการวางตำแหน่งจะดำเนินการกำหนดเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญตรงตามผลการวิเคราะห์ของ TOWS MATRIX ของสำนักคิดเชิงข้อเสนอเพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทหรือสถานการณ์แวดล้อมมากที่สุด โดยสำนักคิดการวางตำแหน่งนี้จะเอื้อต่อการบริหารจัดการกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและยังเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความต้องการจำเป็นในการพัฒนามากที่สุด สำหรับเครื่องมือในการวางตำแหน่งยุทธศาสตร์/กลยุทธ์ขององค์กร มีดังนี้ เครื่องมือที่ 1 Boston Consulting Group (BCG) Matrix หรือ The Growth Share Matrix เป็นหนึ่งในเครื่องมือของการกำหนดยุทธศาสตร์/กลยุทธ์ ภายใต้รูปแบบการจัดการผลงานขององค์การหรือ Portfolio Management ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์มาอย่างยาวนาน พัฒนาโดย Bruce Henderson จาก The Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งมีการกล่าวถึงใน “The Product Portfolio,” ปี 1970(Hanif and Kader, 2020) ประโยชน์ของการนำ Boston Consulting Group (BCG) Matrix คือ เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ขององค์การนั้นๆว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และสอดคล้องกับยุทธศาตร์และกลยุทธ์ใดบ้างขององค์การ รวมทั้งการนำไปสู่การมองภาพรวมขององค์การทั้งระบบ ซึ่งสามารถทำให้จัดลำดับได้ว่าองค์การควรให้ความสำคัญกับส่วนใด ผลิตภัณฑ์ใด กลยุทธ์ใดก่อนขององค์การ เพื่อนำไปสู่การจัดการการพัฒนาและหรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การมากที่สุด หรือ Portfolio Management ทั้งนี้ โมเดล Boston Consulting Group (BCG) Matrix จะประกอบไปด้วย 4 ช่อง ได้แก่ ช่องที่ 1 Question Marks คือ เครื่องหมายคำถาม หมายถึง สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือองค์การที่มีตำแหน่งอยู่ในจุดส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำ สินค้ามีราคาสูง แต่อยู่ในตลาดที่มีความเติบโตหรืออาจจะอยู่ในข่ายควรค่าแก่การลงทุน ช่องที่ 2 คือ ดวงดาว หมายถึง สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือองค์การที่มีตำแหน่งอยู่ในจุดส่วนแบ่งทางการตลาดสูง แสดงให้เห็นถึงตลาดที่กำลังเจริญเติบโตและส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในตำแหน่งสูงสุด สินค้าได้รับความนิยมจากตลาด และควรลงทุนเพื่อเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดต่อช่องที่ 3 Cash Cows คือ แม่วัว หมายถึง สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือองค์การที่มีตำแหน่งอยู่ในจุดส่วนแบ่งทางการตลาดสูง แต่อยู่ในสภาวการณ์ตลาดเติบโตต่ำ องค์การอยู่ในจุดที่มีผลิตภัณฑ์หลักที่มักทำกำไรให้กับองค์การและมีความมั่นคงในตลาด เปรียบเสมือนแม่วัวที่สามารถรีดน้ำนมออกมาขายได้เรื่อยๆช่องที่ 4 Dogs หมายถึง สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือองค์การที่มีตำแหน่งอยู่ในจุดส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำ และอยู่ในสภาวการณ์ตลาดเติบโตต่ำ เป็นประเภทที่แย่ที่สุดใน 4 ประเภท เพราะสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือเเม้กระทั่งสิ่งใดๆก็แล้วแต่ที่องค์การกำลังคิดจะทำอาจจะเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดภายหลังจากที่ดำเนินการไปแล้ว องค์การใดที่มีผลการวิเคราะห์ในลักษณะแบบนี้ จะต้องพิจารณากิจกรรมที่จะดำเนินการใหม่ทันที เพราะอาจจะเกิดสภาวการณ์ขาดทุนในอนาคต เครื่องมือที่ 2 Five Forces Model เป็นกรอบการทำงานเพื่อวิเคราะห์สภาพแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมภายนอกในองค์การเพื่อนำผลที่ได้ไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจของผู้บริหารและหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมขององค์การ ทั้งนี้ Five Forces Model พัฒนาโดย ไมเคิล อีพอร์ตเตอร์เมื่อปี 1979 และได้รับความนิยมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(Gratton,2024) อันประกอบไปด้วยปัจจัย 5 ประการด้วยกันคือ ประการที่ 1 Competitive Rivals หรือคู่แข่งในปัจจุบัน ประการที่ 2 Potential for New Entrants in an Industry หรือผู้เข้ามาใหม่ในอุตสาหกรรม ประการที่ 3 Supplier Power หรืออำนาจในการต่อรองของผู้ผลิตสินค้าให้กับองค์การ ประการที่ 4 Customer Power หรืออำนาจต่อรองจากลูกค้า ประการที่ 5 Threat of Substitutes หรือการคุกคามจากสินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการทดแทน ในบทความต่อไปผู้เขียนจะขอกล่าวถึง กลุ่มสำนักคิดที่ 2 ว่าด้วยสำนักคิดเชิงพรรณนา อ้างอิง แนวคิดและทฤษฎีการสร้างยุทธศาสตร์