ยุทธศาสตร์การพัฒนา:แนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา//กลุ่มสำนักคิดเชิงพรรณนา EP2 ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, January 28, 2025January 30, 2025 Post Views: 81 จากบทความฉบับที่เเล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึง แนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา ว่าด้วย กลุ่มสำนักคิดที่เป็นเชิงข้อเสนอ โดยมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มคือ สำนักออกแบบเน้นความเป็นผู้นำในการวิเคราะห์สภาพเเวดล้อมขององค์กร สำนักที่ 2 คือสำนักวางแผน มุ่งเน้นในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ สำนักคิดที่ 3 คือสำนักคิดการวางตำแหน่ง โดยทั้ง 3 สำนักนี้มีนักวิชาการ นักปฏิบัตินิยมนำไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ และนำไปปฏิบัติอย่างเเพร่หลาย สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอกลุ่มสำนักคิดที่ 2 ว่าด้วยสำนักคิดเชิงพรรณนา โดยมีสำนักคิดที่สำคัญ 6 สำนักคิด(ไพบูรณ์ โพธิ์สุวรรณ,2552);(วิกรม บุญนุ่น,2567) ได้เเก่ สำนักคิดที่ 1 สำนักคิดผู้ประกอบการ เป็นการระบุและกำหนดยุทธศาสตร์โดยเกิดจากความเป็นผู้ประกอบการเองของผู้นำที่มีความเข้มแข็ง มีประสบการณ์และเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ตลอดทั้งการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสรรค์สร้างองค์การของตนเองให้เข็มแข็ง ทั้งนี้วิธีคิดแบบผู้ประกอบการยังจะต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 10 ด้าน(ธนภัทร รุ่งธนาภิรมย์,2557 )คือ 1) มีแนวคิดไอเดียหรือวิสัยทัศน์บางอย่างขึ้นมาได้ มีความเชื่อมั่นอยากทำให้ไอเดียเป็นจริง 2) มีความคิดริเริ่มที่จะทำบางสิ่งด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมอบหมายให้เป็นแรงจูงใจที่มาจากภายใน 3) สามารถทำงานหนักแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ (หรือหลายกรณีอาจต้องจ่ายเงินลงทุนเองด้วยซ้ำ) 4) รักอิสระ ไม่ชอบทำงานภายใต้คำสั่งของผู้อื่น 5) สามารถทำงานให้บรรลุตามที่ตั้งใจไว้ 6) มีเวลาให้กับกิจการอย่างเต็มที่ 7) รับความเสี่ยงได้มาก 8) มีวินัยเรื่องการเงินโดยเฉพาะการกู้ยืมเงินจากผู้อื่น 8) มีความเป็นผู้นำสูง เช่นรู้สึกว่าสามารถโน้มน้าวคนอื่นให้คล้อยตามได้ไม่ยาก 9) มีความเป็นอาจารย์ เพราะต้องอธิบายหรือถ่ายทอดไอเดียของตนให้คนอื่นเข้าใจได้ 10) ชอบคิดรอบด้าน สามารถคิดถึงกรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจของตน และหาวิธีหลีกเลี่ยงหรือป้องกันเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่อยู่ในสำนักคิดนี้มักต่อต้านแนวคิดใหม่ๆ หรือจากโมเดลในกลุ่มสำนักคิดที่ 1 กลุ่มสำนักคิดที่เป็นเชิงข้อเสนอ อันเนื่องจากสำนักคิดเชิงข้อเสนอต้องการเวลาและกระบวนการกลุ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคิดยุทธศาสตร์ แตกต่างจากสำนักคิดผู้ประกอบการอันเนื่องจากผู้นำมีความเชื่อในความคิดของตนเอง ประสบการณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง สำนักคิดที่ 2 สำนักคิดจิตวิทยา โดยเชื่อว่ามนุษย์มีเหตุผลในการคิดเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ สำนักนี้จึงให้ความสำคัญในด้านจิตใจของมนุษย์ เป็นหลัก และเห็นว่าการใช้เหตุผลเป็นระบบการทำงานของสมองที่จะต้องวางกรอบแนวคิดจากข้อมูลที่มากมายของสภาวะแวดล้อม กล่าวได้ว่า สำนักคิดนี้มีความใกล้เคียงกับสำนักคิดออกแบบ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของตนเองและองค์การเป็นสำคัญ สำนักคิดที่ 3 สำนักคิดการเรียนรู้ มีรากฐานมาจากสำนักคิดจิตวิทยาโดยเน้นการก่อตัวทางยุทธศาสตร์จากการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์การตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการโดยวิธีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ต่อไป ในสำนักนี้มีคุณูปการต่อการจัดทำแผนในประเทศไทยมาก เช่นการทบทวนการจัดทำแผนระยะสั้น 5 ปี ระยะยาว 10-20 ปีเป็นต้น โดยกล่าวง่ายๆคือ ในสำนักคิดนีให้ความสำคัญกับการทบทวนประสบการณ์ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ตลอดแวลา สำนักคิดที่ 4 สำนักคิดทางการมือง เป็นสำนักคิดที่ให้ความสำคัญกับการต่อรองโดยการใช้อำนาจทางการเมืองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการคิดยุทธศาสตร์ในแต่ละครั้งมิใช่ความต้องการจำเป็นจากสภาพปัญหาจริงของพื้นที่ แต่จะเกิดจากอำนาจต่อรองของผู้มีอำนาจในพื้นที่เป็นหลัก เช่น หากนักการเมืองในพื้นที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โครงการพัฒนาส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นต้น หรือหากนักการเมืองในพื้นที่เป็นนักพัฒนาองค์การเอกชนมาก่อน โครงการในพื้นที่มักจะออกมาในรูปของโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ การพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นต้น สำนักคิดที่ 5 สำนักคิดวัฒนธรรม เป็นสำนักคิดที่ให้ความสำคัญกับรากฐานความคิดทางมานุษยวิทยา โดยการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในองค์การ มองว่า รากฐานของการพัฒนาองค์การนั้นเกิดจาก ค่านิยมร่วม อุดมการณ์ที่มีความเหมือนและทั้งหมดนั้นมีความเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้มีการกำหนดขึ้นมามีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ดีขององค์การ และในขณะเดียวกันวัฒนธรรมที่มีอยู่นั้นจะมีส่วนช่วยให้ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการอยู่ประสบผลสำเร็จ โดยในปัจจุบันหลายองค์การมักจะให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์การของตนเองเป็นอย่างมาก หลายวัฒนธรรมมักนำไปสู่ค่านิยมร่วมออกมาให้กับลูกค้าของตนเองเช่นเดียวกัน สำนักคิดที่ 6 สำนักคิดสภาวะแวดล้อม เป็นสำนักคิดที่มองว่า ยุทธศาสตร์ไม่มีความตายตัว มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และมีความเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ดีต้องมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนความเป็นผู้นำขององค์การไม่มีความสำคัญ ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงมีระยะเวลาจำกัดเช่น ระยะเวลา 5 ปี 10 ปี 20 ปี 50 ปี แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการกำหนดระยะเวลาของยุทธศาสตร์โดยมีห้วงระยะเวลากำกับ แต่ก็ยังต้องมีการวิเคราะห์และหรือทบทวนยุทธศาสตร์ทุกรอบปีที่มีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ หรือเม้กระทั่งทุกรอบไตรมาสที่มีการทบทวนผลการดำเนินงานการใช้งบประมาณ สำนักคิดนี้มีความเชื่อตลอดว่าสภาวะแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และคู่แข่งก็เช่นเดียวกัน บทความต่อไปจะขอกล่าวถึง กลุ่มสำนักคิดที่ 3 สำนักคิดรูปแบบเฉพาะ ยุทธศาสตร์ NEC แนวคิดและทฤษฎีการสร้างยุทธศาสตร์