ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการพัฒนาภูมิภาค:นักจัดการวิจัยเชิงพื้นที่ ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, March 3, 2025March 6, 2025 Post Views: 69 ประเทศไทย มีการปฏิรูประบบราชการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนในปี พ.ศ.2561 ได้มีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติแตกต่างไปจากที่เป็นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านการกระจายอำนาจทั้งในส่วนของหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ตลอดจนองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับนวัตกรรมและแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างกรณีมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศ เมื่อกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัย ต้องกล่าวอย่างเต็มภาคภูมิว่า หน้าที่หลักจริงๆแล้วคือการเป็นแหล่งกำเนิดทุกอารยธรรมความเจริญในอนาคตของประเทศ(ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ ใช้คำว่ามดลูกของประเทศ* ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนัก) เพราะฉะนั้น หนึ่งในภารกิจที่สำคัญคือการคิดค้นนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ ตลอดจนการเป็นทัพหน้าในการพัฒนาประเทศ ทั้งในส่วนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการวิจัยและพัฒนา สำหรับกระบวนการวิจัยและพัฒนานั้น ในอดีต ระบบการวิจัยของประเทศไทย ยังไม่มีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน และแต่หน่วยงานจะคิดโจทย์ตามความต้องการของตนเอง อยากรู้อะไรก็ทำ(ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด เพราะทุกคนสั่งสมดำริคิดตามทฤษฎีการวิจัย เพราะการวิจัยคือการค้นหาคำตอบ) ส่งผลต่อองค์ความรู้ที่สะเปะสะปะ ไม่ก่อให้เกิดแนวทางในการพัฒนาและยุทธศาสตร์ประเทศอย่างแท้จริง ที่สำคัญ หน่วยงานให้ทุนวิจัยของไทย ยังไม่มีสภาพ Think tank(คณะทำงานระดับมันสมอง สถาบันนโยบาย หรือ กลุ่มข้อมูลงานวิจัยหรือ ฯลฯ) ให้กับผู้บริหารของรัฐบาล รัฐยังมองหน่วยให้ทุนวิจัยเป็นแค่ระบบและกลไกของรัฐ ซึ่งเมื่อมองว่าการเป็นแค่ระบบและกลไกก็หมายถึง คน ทุนวิจัยต้องอยู่กับคนวิจัย นั่นหมายถึง มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น จีน หน่วยให้ทุนอยู่กับประธานธิบดี ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี หน่วยให้ทุนจึงกลายเป็นคณะทำงานระดับมันสมอง กลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการวิจัย คณะผู้เชี่ยวชาญ ทำงานตามดำริของผู้นำสูงสุด อยากทราบ อยากรู้อะไร อยากได้อะไร หรือนโยบายแบบไหน ก็สร้างโจทย์ และกำหนดทุน(ได้ทันที)นำไปสู่การ shopping knowledge และสร้างนโยบายที่มีคุณภาพได้ตลอดเวลา ไม่อาศัยข้อมูลสารสนเทศจากข้าราชการซึ่งผูกติดกับผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งในระดับชาติและพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ Think tank ที่มีคุณภาพ เมื่อต้องการ Think tank ที่มีคุณภาพ ระบบและกลไกที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัย คือคณาจารย์และนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่(Innovation) หรือ องค์ความรู้ต่างๆที่ตอบสนองต่อโจทย์ของหน่วยให้ทุนของรัฐบาล เมื่อกล่าวถึงหน่วยให้ทุนของรัฐบาลไทยแล้ว จะต่างจากประเทศจีน เพราะในประเทศไทย มาจากการจัดสรรงบประมาณของ สกสว.หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งต่อไปยังหน่วยให้ทุนปัจจุบันคือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. สังกัด กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ให้ทุนและกำหนดโจทย์จากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นหลัก ข้อดีคือ มีแนวทางในการกำหนดโจทย์ที่ชัดเจน และข้อเสียคือ ไม่มีความคล่องตัว และไม่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ความสามารถในการกำหนดนโยบายเร่งด่วนจึงมีข้อจำกัด สำหรับการกำหนดโจทย์ของหน่วยงานทุนวิจัย จะมีจุดเน้นที่น่าสนใจอยู่สองส่วนคือ ส่วนที่เป็นจุดเน้นด้านนวัตกรรมและส่วนที่เป็นด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ ส่วนที่เป็นนวัตกรรมนั้น ในปัจจุบัน ถือว่า มี Output ที่กำหนดง่าย เพราะจับต้องได้ และนำไปใช้ได้เลย คล่องตัวและรวดเร็ว สอดคล้องต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศทั้ง 14 อุตสาหกรรม(https://stemplus.or.th/target_industry) แต่ไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ศักยภาพยังมีความพร้อมไม่มากนัก มีจุดอ่อนตั้งแต่ระดับการศึกษาภาคบังคับ โดยพิจารณาได้จากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล(PISA 2022) ซึ่งผลการประเมินอยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการเรียนสาขาวิชาในอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีน้อย ส่งผลต่ออัตรากำลังขาดแคลนในปัจจุบัน การยกระดับการวิจัยด้านนวัตกรรมจึงต้องเน้นที่คุณภาพคนในประเทศ จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยยังมีอันดับการใช้นวัตกรรมของตนเองในลำดับที่ 41 ของโลก และที่สำคัญการใช้นวัตกรรมของตนเองยังอยู่ในกลุ่มเอกชน จุดเน้นต่อมาคือ ส่วนที่เป็นการวิจัยเชิงพื้นที่ กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และมีความยาก ตลอดจนความซับซ้อน อันเนื่องจาก ผู้วิจัยจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ความสามารถในการสร้างเครือข่ายในพื้นที่การวิจัยตลอดจนความสามารถในการเข้าถึงชุมชน ซึ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ขาดคุณสมบัติเหล่านี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญมากที่สุดคือการสร้างมุมมองพื้นที่เชิงนโยบายเป็นเรื่องใหม่ และท้าท้ายต่อนักวิจัย ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ในปัจจุบันหลักสูตรสาขาวิชาที่มีคุณสมบัติจัดการเรียนการสอนด้านนี้มีไม่มากในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาและสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค เมื่อกล่าวถึง ความสามารถในการสร้างมุมมองพื้นที่เชิงนโยบาย สิ่งที่สำคัญมากคือ การเป็นนักจัดการวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายและเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักวิจัยในปัจจุบัน เพราะการเป็นนักจัดการวิจัยเชิงพื้นที่ ส่งผลต่อภารกิจที่สำคัญคือ ภารกิจในการถักทอ ประสานระหว่างหน่วย Function ของรัฐบาลทั้งในส่วนของหน่วยงาน(Function-based mechanisms) และ Function ของรัฐบาลในส่วนของพื้นที่-based mechanisms) เพื่อสร้างผลลัพธ์(Outcome&Impact Delivery) ที่ต้องการร่วมกัน ตั้งแต่ระดับ ประชาชน(People) ระดับพื้นที่และทรัพยากร(Land /Resources) ระดับกระทรวง ทบวง กรม (Capital) ระดับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อการจัดการในพื้นที่(Technology/Innovation) และพื้นที่บริการ(Market) ที่มาของภาพ:ลีลาภร บัวสาย,2568:Core Concept ของการเป็นนักจัดการวิจัยเชิงพื้นที่.ABC ACADEMY รุ่น 2. สิ่งที่สำคัญในการถักทอประสานงานระหว่างหน่วย Function คือ นักจัดการในพื้นที่ต้องมีความสามารถในการสร้างเป้าหมายร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้อง(Stakeholders:People) ตลอดจนความสามารถในการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ให้ได้ จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการในการพัฒนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ความสามารถในการเป็นนักจัดการวิจัยเชิงพื้นที่ สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ความเข้าใจในการนำนวัตกรรม(Technology/Innovation) มาใช้พื้นที่บริการ(Market) ภายใต้การตอบสนองต่อศักยภาพความพร้อมของพื้นที่ สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความเข้าใจเป็นอย่างมากคือ Key Actor หรือผู้ที่มีส่วนสำคัญในพื้นที่ ซึ่งนักจัดการวิจัยเชิงพื้นที่จะละเลยไม่ได้เลย เพราะ Key Actor คือผู้ที่มีส่วนเชื่อมโยงและประสานงาน ตลอดจนเป็นผู้ที่มีผลกระทบมากที่สุดในพื้นที่นั้นๆ บทความต่อไปจึงขอกล่าวถึงความสำคัญของบุคคลดังกล่าว *ปฐกถาในงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา การวิจัยกับ NEC ยุทธศาสตร์ NEC