ภาพรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, February 25, 2024July 28, 2024 Post Views: 142 ปรากฏการณ์ไหลบ่าเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-ลาว ไทย-เมียนมาร์ ไทย-กัมพูชา ไทย-มาเลเซีย ส่งผลให้เกิดการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายและกลายเป็นความกังวลต่อปัญหาความมั่นคง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2565 เป็นต้นมามีผู้หลบหนีเข้าเมืองแล้วกว่า 14,000 คน[1] แต่ขณะเดียวกันการหลบหนีเข้าเมืองนับเป็นเรื่องปกติของการมีแนวตะเข็บชายแดนที่ติดต่อกันมาตั้งแต่อดีต การห้ามหลบหนีเข้าเมืองจึงเป็นมาตรการที่กระทำกัน โดยส่วนใหญ่ประเทศไทยมักประสบเจอกับปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองมากกว่า สปป.ลาว เมียนมาร์ และ กัมพูชา จากปัญหาดังกล่าวสิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลไทยวิเคราะห์ได้คือ การหลบหนีเข้าเมืองมาเพื่อหางานทำในประเทศไทย เกิดจากโอกาสในทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 ประเทศข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยเป็นประเทศปลายทางที่มีอุตสาหกรรมการผลิตที่ความต้องการแรงงานราคาถูกสูงและเป็นแรงงานที่ไม่ปฏิเสธกิจกรรมแรงงานบางประเภทที่มีความเสี่ยงและสกปรก ตลอดจนตำแหน่งงานระดับล่างที่คนไทยไม่นิยมทำกันเช่น อาชีพกรรมกร ตลอดจนถึงแนวคิดในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ของประชาชนทำให้รัฐบาลไทยมีแนวคิดที่จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งสามารถรองรับสภาพปัญหาของการหลบหนีเข้าเมือง ตลอดจนการขนย้ายวัตถุดิบการผลิตและการส่งออก-นำเข้าสินค้าต่างๆได้ดีกว่าการผลิตจากส่วนกลางของประเทศซึ่งไม่เอื้อต่อการผลิต การขนย้าย การทำงานแบบไปกลับของแรงงานต่างด้าวตลอดจนการยกเว้นภาษีนำเข้าของสินค้าต่างๆตลอดรวมทั้งวัตถุดิบในการผลิต จากประเด็นดังกล่าว รัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ในปี พ.ศ.2509 ตลอดจนการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2515[2] ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีการจัดพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมให้รวมกันอย่างเป็นระบบและระเบียบและเป็นกลไกของภาครัฐในการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค และในปี พ.ศ. 2520 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนปี พ.ศ.2520 ขึ้นเพื่อส่งเสริมและผลิตสร้างนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผนวกกับในช่วงทศวรรษ 2530 เนื่องจากค่าแรงและการแข่งขันในตลาดส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ และอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นอื่นๆ มีกำไรลดลง อุตสาหกรรม เหล่านี้เริ่มย้ายโรงงานไปยังบริเวณชายแดน ในช่วงต้นและช่วงกลางทศวรรษที่ 2530 จึงเริ่มปรากฏอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอเพื่อการส่งออกในพื้นที่อย่างแม่สอด และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยมีแรงงานราคาถูกจากเมียนมาร์เป็นปัจจัยดึงดูดสำคัญ ต่อมาในช่วงหลังปี 2546 นักธุรกิจไทยและการลงทุนไทยเริ่มเคลื่อนตัวออกไปลงทุนนอกประเทศตัวเลขที่ไหลออกนี้เริ่มจาก 1,500 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2549 และเพิ่มเป็น 36,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2555 โดยมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร ตลาด และต้นทุนการผลิตที่ต่ำในประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยดึงดูดสำคัญ(วัฒนา สุกัณศีล,2560) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคมเหล่านี้ ควบคู่ไปกับสถานการณ์ของกลุ่มประเทศอาเซียนเริ่มมีแรงผลักดันในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมาจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ซึ่งมีเป้าหมายประการหนึ่งเพื่อการสร้างฐานการผลิต รวมไปถึงข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่นๆ เช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(Great MekongSubregions: GMS)และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(ACMECS)และแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ซึ่งล้วนแต่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการลงทุน โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(Asian DevelopmentBank: ADB) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ GMS ได้มีการส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนุภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) โดย ADB ได้บรรจุแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้เป็นแผนปฏิบัติการ(Action plans) เพื่อการเปลี่ยนระเบียงการขนส่ง (Transport Corridors) ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ซึ่งทาง ADB ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้ข้อเสนอแนะเชิงเทคนิคและกลยุทธ์ในการสร้างและดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนุภูมิภาค ตลอดจนถึงการให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่างๆ ในอนุภูมิภาคเข้าด้วยกันรวมถึงการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังท่าเรือ จุดกระจายสินค้า และตลาดปลายทาง(สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา(องค์การมหาชน),2558) ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้กำหนดนโยบายในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของประเทศไทย เริ่มจากการผลักดันของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ภายใต้กลยุทธ์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2541 โดยกำหนดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใส่ในแผนปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนระเบียงการขนส่ง (Transport Corridors) ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ต่อมาทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ริเริ่มแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และได้มีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เพื่อผลักดันการพัฒนา ในปี พ.ศ.2556 โดยพิจารณาถึงนโยบายที่สำคัญ เช่น มาตรการภาษีมาตรการทางการเงิน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มมิติด้าน ต่างประเทศในเรื่องการเชื่อมโยงกับประเทศอื่น การศึกษาถึงกฎ และระเบียบข้อบังคับระหว่าง ประเทศ และข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยพื้นที่โครงการนำร่องคืออำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ภายใต้ความรับผิดชอบและการกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อกล่าวถึง คณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กพน. คือ คณะกรรมการที่เกิดขึ้นมาจากคำสั่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 โดยประธานคือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย หลังจากนั้น กพน.ได้ดำเนินการเร่งผลักดันมาตรการต่างๆของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนโดยมาตรการของ BOI(Borad of Investment) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีการประกาศใช้มาตรการอย่างเป็นทางการออกมาเป็นหน่วยงานแรก ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 4/2557 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 เรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ[3] ขณะเดียวกัน กพน. ยังได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 6 คณะเพื่อดำเนินการหน้าที่ดังนี้(สุวิดา ธัญวงษ์,2558)[4] 1.คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์เบ็ดเสร็จด้านการลงทุน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมและกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและการกำหนดสิทธิประโยชน์ 2.คณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน การสาธารณสุข และความมั่นคง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดแนวทางและขับเคลื่อนการจัดระบบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานลักษณะไป-กลับ 3.คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านต่างๆในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ใกล้เคียง 4.คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดพื้นที่ของทางราชการขที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและจัดทำผังการใช้ยที่ดินแปละกำหนดแผนการนำที่ดินทางราชการมาใช้ประโยชน์ 5.คณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะทางการตลาดที่สนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ จัดสัมมนา เชิญชวนนักลงทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุน 6.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่ มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ ผักดัน ขับเคลื่อนการทำงานของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะทางด้านการตลาดและเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่สนใจให้เข้ามาลงทุน ในเวลาต่อมามีการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแผนแม่บท(ประเด็น 09) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีวัตถุประสงค์ในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตสินค้าและบริการ พร้อมทั้งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าทางภูมิภาคพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่โดยต่อยอดการพัฒนาฐานทรัพยากรธรรมชาติและกิจกรรม เศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสในการดำาเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกรวมถึงการให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น การประกอบอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการหรือ กิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ยกระดับรายได้ของประชากรในประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยมีเป้าหมายระดับประเด็น 2 เป้าหมาย ได้แก่ (1) การเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดเพิ่มขึ้น และ (2) การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดได้รับการยกระดับ[5] [1] https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/170724 [2] ในปี พ.ศ.2522 จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปี พ.ศ.2522 แทน ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 339 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ที่ถูกยกเลิกไป(ผู้เรียบเรียง) [3] เป็นเพียงหนึ่งในหน่วยงานที่ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน [4] ข้อมูลตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ปี พ.ศ.2558 และยังไม่ปรากฏคำสั่งใหม่ใดๆภายใต้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน [5] แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถหกาอ่านได้ในเอกสารเผยแพร่ของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ * บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำรารายวิชา แนวคิดและทฤษฎีการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งผู้เขียนได้ดำเนินการพัฒนาเเล้วเสร็จในปี 2566 ภาพประกอบ สถานนีรถไฟความเร็วปานกลางม้อหาน เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยูนนาน อ้างอิงบทความนี้วิกรม บุญนุ่น. (2567). ภาพรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย. รอบรั้ว NEC. (ออนไลน์). URL: https://kmnec.crurds.com/archives/112 ยุทธศาสตร์ NEC