ตัวแบบความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, July 27, 2024July 28, 2024 Post Views: 165 ภายใต้กระแสแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างพลิกผัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย แนวโน้มเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ การขยายตัวของความเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางสังคม และภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับปัจจัยเร่งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด – 19) ที่ก่อให้เกิดความผันผวนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแก่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงที่จะช่วยผลักดันให้การพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไปให้เกิดความสำเร็จ หรือเป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับบริบทหรือศักยภาพและขีดความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยความก้าวหน้าและแพร่หลายของเทคโนโลยีจะสรรค์สร้างประโยชน์ให้เกิดเป็นโอกาสต้องอาศัยการพัฒนาคนและระบบบริหารจัดการด้านดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศให้มีความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงให้กระจายลงสู่ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเท่าทัน ขณะเดียวกันความเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบและเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อประเทศไทยในการที่จะต้องเร่งแสวงหาแนวทางในการแก้ไขรับมือนั้นมาจากแนวโน้มด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและดิจิทัล รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ รวมถึงมิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสร้างความเสมอภาคในสังคม ซึ่งบริบทสถานการณ์ของประเทศไทยที่ยังมีข้อจำกัดภายในหลายประการ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนแล้ว อาจส่งผลให้ประเทศมีความเปราะบางยิ่งขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีความผันผวนสูง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะประเทศจีนมีบทบาทในการกำกับระเบียบเศรษฐกิจการเมืองของโลกมากขึ้น จนทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาต้องเพิ่มบทบาทในเวทีโลกเพื่อคานอำนาจอิทธิพลของประเทศจีน ทำให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของโลกได้รับผลกระทบ กอปรกับความเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมีมากขึ้น และประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ได้เปรียบของการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการค้าการลงทุนและการให้บริการโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงภูมิภาคเข้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเป็นความท้าทายในบทบาทความร่วมมือที่มีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งงชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพลิกโฉมประเทศสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวไปพร้อมกับการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความสอดคล้องการพัฒนาหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย กลายผลเป็นการกำหนดแผนยุทธศาสตร์รองรับการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์บนฐานเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ประตูการค้าและการลงทุนและโลจิสติกส์ ความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จากหลากหลายประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดกรอบแนวคิดสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจองค์ความรู้ทางยุทธศาตร์การพัฒนาภูมิภาค คือให้มีวิธีคิด แนวทางการวิเคราะห์สังคมแบบองค์รวม การบูรณาการศาสตร์ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างผู้เชี่ยวชาญด้วยหลักการจากระบบเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการค้นหาความหมายเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นกรอบการจัดการเรียนรู้ในการลำดับความคิดเพื่อสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาจากรูปแบบการริเริ่มการวิจัยแบบ “Non Experimental” เพื่อค้นหาปัญหาเป้า และเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เชิงสมมติฐานจากกระบวนการแบบ “Experimental” โดยใช้แบบแผนการทดลองที่เหมาะสมกับกรณีนั้นเพื่อพิสูจน์ว่ายุทธศาสตร์มีความเหมาะสมและใช้ได้จริง สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาของตนเองโดยอาศัยองค์ความรู้ทางการวิจัยขั้นสูงเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาพื้นที่และภูมิภาคของตนเองต่อไป ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงตัวแบบความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงมีความสำคัญ ตัวแบบความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา ยุทธศาสตร์การพัฒนาคือ ความสามารถในการสร้างคุณค่าต่อเป้าหมายของนโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ ระดับประเทศระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบกิจกรรมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันส่งผลต่อการพัฒนาเป็นวงกว้าง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และสภาพบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คุณสมบัติของความรอบรู้ในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคจึงสำคัญมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรงในการปรับใช้ยุทธศาสตร์กับพื้นที่ที่ต้องการพัฒนา ความถูกต้องทางวิชาการ ตลอดจนถึงการนำผลการวิเคราะห์การใช้ยุทธศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการปรับใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคในแต่ละครั้ง ส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในพื้นที่ โดยการขับเคลื่อนขององค์การภาครัฐและเอกชน จุดเริ่มต้นที่ดีจึงมักสะท้อนให้เห็นถึงระเบียบวิธีในการสังเคราะห์สภาพปัญหาดังเดิมขององค์การ ชุมชน สังคม ประเทศชาติที่เป็นอยู่ ดังนั้นแล้วตัวแบบทางความคิดทางยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงมีความสำคัญมาก ดังที่ผู้เรียบเรียงได้นำเสนอไว้ในเอกสารคำสอนเรื่อง “แนวคิดและทฤษฎีการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนา”(วิกรม บุญนุ่น,2567) ซึ่งเป็นเอกสารคำสอนที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค โดยในการนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนออีกครั้งเพื่อเป็นแนวทางเดียวกันในการปรับใช้ตัวแบบทางความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับตัวแบบทางความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนานั้น ได้รับการพัฒนาจากศาสตราจารย์ ดร.เฉลียว บุรีภักดี มีการทดลองใช้อย่างเป็นทางการมาจากหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาในมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ดังที่แสดงให้เห็นในภาพข้างต้น ทั้งนี้ตัวแบบทางความคิดดังกล่าว สามารถนำมาใช้งานได้ใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกนำมาใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์ โดยทำตามขั้นตอนตั้งแต่หมายเลข 1 จนถึงหมายเลข 5 ส่วนลักษณะที่สอง นำมาใช้ในการปฏิบัติใช้หรือทดลองยุทธศาสตร์ที่ออกแบบแล้วนั้น โดยดำเนินตามขั้นตอนย้อนกลับ ตั้งแต่หมายเลขที่ 5 จนถึงหมายเลขที่ 1 เพียงแต่ใช้คำอธิบายแต่ละขั้นตอนดังกล่าวในรูปแบบของการปฏิบัติงาน แทนการวางแผนหรือการออกแบบยุทธศาสตร์ จากภาพ ตัวแบบความคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนา แสดงให้เห็นว่า การสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาสำหรับปัญหาทุกข์ร้อนจะประกอบไปด้วย 1. การระบุและวิเคราะห์ปัญหาทุกข์ร้อน 2. การระบุและวิเคราะห์ปัญหาเป้า 3. การกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ 4. การสร้างหน่วยระบบทำงาน 5. การจัดหาทรัพยากร คำอธิบายวิธีปฏิบัติสำหรับแต่ละขั้นตอนมีดังนี้ 1) การระบุและวิเคราะห์ปัญหาทุกข์ร้อน หมายถึง สภาพอันไม่พึงประสงค์ของผู้เป็นเจ้าทุกข์คนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่มีตัวตนแน่นอน เจ้าทุกข์นั้นสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความทุกข์ร้อนหรือสภาวะอันไม่พึงประสงค์นั้นได้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ดังกล่าว โดยการระบุปัญหาทุกข์ร้อน ได้แก่ การระบุจำนวนและขอบเขตของผู้มีความทุกข์ร้อน”เจ้าทุกข์”ที่เกี่ยวข้อง ระบุชนิดและอาการของความทุกข์ร้อน ตลอดจนความรุนแรง เวลา สถานที่ และการวิเคราะห์ปัญหาทุกข์ร้อน คือการจัดหมวดหมู่หรือจำแนกประเกท หรือลำดับขั้นตอนหรือแหล่งของปัญหาทุกข์ร้อน แล้วแสดงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มปัญหา หรือระหว่างหน่วยปัญหาเหล่านั้น เช่น แสดงให้เห็นว่ามีบางหน่วยปัญหาที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญหาอื่นและมีบางหน่วยปัญหาที่เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากปัญหาอื่นหรือจะจำแนกปัญหาหล่านี้ในลักษณะอื่นก็ได้ วัตถุประสงค์ของการจำแนกปัญหาออกเป็นปัญหาย่อย ๆ คือ เพื่อสะดวกในการเลือกปัญหาใดปัญหาหนึ่งมาเป็นปัญหาเป้าสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อแก้ปัญหานั้นต่อไป 2) การกำหนดและวิเคราะห์ปัญหาเป้า การจะกำหนดเลือกหน่วยปัญหาใดที่ได้มาจากปัญหาทุกข์ร้อน เพื่อนำมากำหนดเป็นปัญหาเป้า ในกรณีที่มีหน่วยปัญหาหลายรายการให้เลือก ผู้เลือกปัญหาอาจใช้เกณฑ์ต่อไปนี้ 2.1)หน่วยปัญหาเป้านี้ ถ้าได้รับการแก้ไขจะสนองความต้องการของเจ้าทุกข์ได้มาก 2.2) หน่วยปัญหาเป้านี้ ถ้าได้รับการแก้ไขจะนำความคลี่คลายมาสู่หน่วยระบบปัญหาอื่นได้ด้วย 2.3) ผู้ที่จะรับผิดชอบแก้ไขปัญหานี้ มีความสามารถพอที่จะสร้างยุทธศาสตร์ขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ 2.4) การจะสร้างยุทธศาสตร์ขึ้นมาแก้ปัญหาเป้านี้ จะไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากเกินจนไม่ต้องการลงทุน โดยการเลือกปัญหาเป้า อาจจะเลือกปัญหาเดียวหรือมากกว่านั้นได้สำหรับการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามควรคำนึงว่าหน่วยปัญหาเป้าแต่ละหน่วยมักต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งเหมาะสมกับปัญหานั้น การเลือกปัญหาเป้ามากกว่าหนึ่งปัญหาในคราวเดียวกันจะนำไปสู่ความยากลำบากในการสร้างยุทธศาสตร์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีความเหมาะสมด้วยเหตุผลอย่างอื่น การเลือกปัญหาเป้ามากกว่าหนึ่งปัญหาในคราวเดียวกันก็ย่อมจะทำได้ การวิเคราะห์ปัญหาเป้าที่ได้เลือกแล้ว คือ การจำแนกองค์ประกอบภายในกรอบปัญหาตลอดจนจำแนกเหตุปัจจัยและกระบวนการที่ก่อให้เกิดปัญหานั้น ซึ่งในการนี้สามารถนำเอาทฤษฎีระบบมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ได้ วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ปัญหาเป้า คือ เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่าการจะแก้ไขปัญหานั้นให้หมดไป จะต้องกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์เป็นอย่างไร และจะต้องใช้ทรัพยากรมากเพียงใด เราอาจเปรียบเทียบการวิเคราะห์หน่วยปัญหาเป้าเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้ สมมติว่าหน่วยปัญหาเป้า คือ หลุมที่เป็นแอ่งในสนามฟุตบอล ซึ่งถ้าปล่อยไว้จะทำให้การเล่นฟุตบอลเป็นอันตรายเราจึงจำเป็นต้องวัดความกว้างและความลึกของหลุมดังกล่าว เพื่อประมาณการว่าจะต้องใช้ดินเป็นปริมาตรเท่าใดที่จะนำมาถมหลุมนั้น ปริมาตรของดินเปรียบได้กับเป้าหมายของดินที่จะต้องจัดหามาถมหลุม จึงเปรียบได้กับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ 3) การกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ การกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ คือ การคิดอนุมานจากผลการวิเคราะห์ปัญหาเป้าสิ่งที่ต้องตัดสินใจในขั้นนี้ คือ จะกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในคุณภาพระดับใด ทั้งนี้เพราะว่าแต่ละระดับของคุณภาพจะหมายถึงการใช้ทรัพยากรคืนทุนที่แตกต่างกัน ถ้าคิดต่อจากตัวอย่าง เรื่องการถมหลุมในสนามฟุตบอลที่กล่าวในข้อก่อน การเลือกชนิดของดินหรือวัสดุอย่างอื่นเพื่อนำมากลบหลุมเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาในขั้นนี้ด้วย การตัดสินใจในขั้นนี้จึงมีความสำคัญ เพราะหมายถึงความรับผิดชอบในการสร้างหน่วยยุทธศาสตร์ของระบบทำงาน และการจัดหาทรัพยากรที่จะตามมา 4) การสร้างหน่วยระบบทำงาน หน่วยระบบทำงานแต่ละหน่วยก็คือ “หน่วยระบบ” ที่เราสร้างขึ้นตามหลักของทฤษฎีระบบนั่นเอง กล่าวถือ เรากำหนดว่าจะให้ได้ผลผลิต (0) เป็นเช่นไร จากนั้นจึงกำหนดกระบวนการ (P) และกำหนดปัจจัยนำเข้า (I) ที่จะทำให้เกิดผลผลิตที่ต้องการ หน่วยระบบทำงานอาจจะมีมากกว่าหนึ่งหน่วย และอาจจะเชื่อมโยงกันในลักษณะที่เป็นลำดับก่อนหลังแก่กัน หรือในลักษณะที่เป็นคู่ขนานก็ได้ คือ บรรดาผลผลิต (O) ที่ได้มาจากหน่วยระบบทำงานทั้งหลายรวมกัน ทำให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้แล้ว 5) การจัดหาทรัพยากร ทรัพยากรที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยนำเข้า ย่อมได้มาจากบริบทภายนอกและบริบทภายในของหน่วยระบบทำงานแต่ละหน่วย โดยที่ควรได้รับการเลือกสรรอย่างเหมาะสม และมีความคุ้มทุน ได้แก่ กำลังคน เงิน วัสดุสิ่งของ เวลาดำเนินการ ตลอดจนสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ความนิยม ความเชื่อ ความศรัทธา และอื่น ๆ ความชาญฉลาคที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของแผนการเก้ปัญหาหรือของยุทธศาสตร์การพัฒนาอยู่ที่การเลือกใช้ทรัพยากรนี้เอง กล่าวโดยสรุป ตัวแบบความคิดเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนารูปแบบของการพัฒนาที่นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาสามารถนำไปใช้ได้กับการพัฒนาสิ่งต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน สังคม ตลอดจนกระทั่งองค์การให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยตัวแบบคือ เป็นคำที่ใช้ในการสื่อความหมายของแบบจำลองที่ผ่านการทบสอบทางทฤษฎี เพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย สังคมวิทยา จิตวิทยาและปรัชญาอื่นๆ เป็นโครงสร้างของมนุษย์เพื่อช่วยให้เข้าใจระบบในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ประเภทของตัวแบบมีทั้งรูปภาพหรือแผนภาพสำหรับโมเดลเชิงแนวคิด ตัวแบบเชิงวิเคราะห์ คือ ตัวแบบทางสถิติ ตัวแบบทางคณิตศาสตร์และสถิติเกี่ยวข้องกับการแก้สมการที่เกี่ยวข้องของระบบ ดังนั้น ตัวแบบจึง หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่สามารถช่วยให้เห็นภาพวิธีการทำงานของระบบได้ ทำให้เห็นการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างข้อมูลกับเอาท์พุตกราฟิกหรือรูปภาพบางส่วน หรือสามารถเชื่อมโยงเป็นชุดกับตัวแบบประเภทอื่น ตลอดจน เป็นรูปแบบที่ใช้การอุปมาอุปมัยเทียบเคียงปรากฏการณ์ซึ่งเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เป็นนามธรรม เป็นรูปแบบที่ใช้ภาษาเป็นสื่อในการบรรยายหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่ศึกษาด้วยภาษา แผนภูมิ หรือรูปภาพ เพื่อให้เห็นโครงสร้างทางความคิด องค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของปรากฏการณ์นั้น ๆ เป็นรูปแบบที่ใช้สมการทางคณิตศาสตร์เป็นสื่อในการแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ รูปแบบประเภทนี้นิยมใช้กันทั้งในสาขาจิตวิทยาและศึกษาศาสตร์ เป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากเทคนิคที่เรียกว่า Path Analysis และหลักการสร้าง Semantic Model โดยการนำเอาตัวแปรต่าง ๆ มาสัมพันธ์กันเชิงเหตุและผลที่เกิดขึ้น ในส่วนของ ตัวแบบทางความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา สามารถนำมาใช้งานได้ใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกนำมาใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์ ส่วนลักษณะที่สอง นำมาใช้ในการปฏิบัติใช้หรือทดลองยุทธศาสตร์ที่ออกแบบแล้วนั้น โดยองค์ประกอบของตัวแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบไปด้วย 1. การระบุและวิเคราะห์ปัญหาทุกข์ร้อน 2. การระบุและวิเคราะห์ปัญหาเป้า 3. การกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ 4.การสร้างหน่วยระบบทำงาน 5. การจัดหาทรัพยากร ตัวแบบความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาสามารถนำมาปรับใช้กับ ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ตลอดจนองค์การเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดทิศทางของการวิจัยมิให้หลงทางหรือหลงประเด็น ทำให้เป็นระบบ นับตั้งแต่การมุ่งสร้างยุทธศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบยุทธศาสตร์ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทที่วางไว้ได้ ตั้งเเต่ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาองค์การ แผนพัฒนาชุมชน และอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้เป็ยอย่างดี สุดท้ายคือสามารถนำไปใช้กับระเบียบวิธีการวิจัยเพื่อมิให้ผู้วิจัยหลงทางหรือสามารถทำให้งานวิจัยอยู่ในลักษณะขึ้นห้างมิใช่ขึ้นหิ้ง อ้างอิงบทความนี้วิกรม บุญนุ่น. (2567). ตัวแบบความคิดด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา. รอบรั้ว NEC. (ออนไลน์). URL: https://kmnec.crurds.com/archives/159 การวิจัยกับ NEC ยุทธศาสตร์ NEC