ความหมายและความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค* ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, February 25, 2024July 28, 2024 Post Views: 216 นับตั้งแต่“ยุทธศาสตร์”(Strategy) ได้รับการบรรจุเป็นคำสำคัญ(Key Word) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ในช่วงปี พ.ศ.2540-2544 ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการตื่นตัว และสนใจในการศึกษาถึงระเบียบวิธีในการนำมาใช้ในองค์กรและนโยบายสาธารณะของประเทศไทย ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัย ยังได้มีการนำระเบียบวิธีทางยุทธศาสตร์มาปรับใช้ และจัดทำหลักสูตรให้รองรับแนวคิดด้านยุทธศาสตร์ เพื่อใช้ในการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จุดเด่นของความเป็น “ยุทธศาสตร์” คือ ความเป็น methodology (ระเบียบวิธี) มิใช่ศาสตร์เฉพาะ ส่งผลให้มีการเปิดกว้างให้กับทุกกลุ่มสาขาอาชีพนำไปใช้ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการจัดการภาครัฐและเอกชนให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนมีนโยบายตามหลักการ “มุ่งลงใต้”ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road(Mau,K And Seuren,R,2022) หรือเส้นทางสายไหมเส้นใหม่(ผู้เขียน) ที่มุ่งเน้นฝ่าวงล้อมจากการปิดกั้นของมหาอำนาจตะวันตกโดยการนำของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง[1] ปรับตัวขนานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้ยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขัน การแสวงหาโอกาสจากการค้าการลงทุน การปรับตัวและรวมทั้งการเอาตัวรอด พร้อมทั้งการรับมือสถานการณ์ของสังคมโลกและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นที่น่าสนใจว่า ประเทศต่างๆเหล่านี้มียุทธศาสตร์ในการปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การทำความเข้าใจทางยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคโดยภาพรวม จะเป็นผลดีต่อการทำความเข้าใจสืบเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดความสามารถเชื่อมต่อไปได้ในทุกเนื้อหาของบทความนี้ ความหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ยุทธศาสตร์มีต้นกำเนิดในภาษากรีกจากคำว่า Strategos ซึ่งหมายถึงนายพลหรือผู้ที่มีอำนาจในกองทัพ (Mckeown,M,2012) และมีการนำไปใช้ครั้งแรกในกรุงเอเธนส์(508 ปีก่อนคริสตกาล)โดยนายพลจำนวน 10 นายในสภาการสงครามที่มีทักษะในด้านการจัดการ พัฒนาทักษะของตนเองไปสู่ศิลปะความเป็นผู้นำในการจูงใจการทำสงครามของทหาร อันนำไปสู่ให้การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ของกองทัพ และขณะเดียวกันยังมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับยุทธศาสตร์ของเอเธนส์ คือ แนวความคิดตำราพิชัยสงครามของซุนวูซึ่งมีการเขียนและถ่ายทอด จนถึงปัจจุบันยังมีผู้คนส่วนใหญ่นำไปประยุกต์ใช้กับหน้าที่การงานและรวมถึงแนวทางในการพัฒนาองค์กรของตนเอง(Grant R, M. & Jordan,J,2015) ส่งผลกระทบเชิงบวกกับผู้ที่นำไปใช้และสังคมจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการนำ คำว่า ยุทธศาสตร์ มาใช้ในวงการทางธุรกิจ การเมือง การทหาร การปกครอง ตลอดแม้กระทั่งในวงการศึกษาของประเทศไทย แต่ก็ยังมีการสับสนในการนิยามถึงความหมายและการนำไปใช้ ผู้เขียนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนิยามตามทัศนะของนักวิชาการ และผู้รู้ต่อไปนี้ J. Boone Bartholomees, Jr.(2006) ได้ยกคำกล่าวของ คาร์ล ฟ็อน เคลาเซอวิทซ์(Clausewitz) นักการทหารชื่อดังชาวเยอรมัน ปรัสเซีย(เยอรมันในปัจจุบัน,ผู้เขียน) ดังข้อความต่อไปนี้ คือ “ยุทธศาสตร์คือการสู้รบเพื่อจุดประสงค์ของการทำสงครามและเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทั้งหมดของสงครามและใช้ระยะเวลายาวนาน นักยุทธศาสตร์จึงต้องทำแผนสงครามหรือแผนการรบ เพื่อจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติทั้งหมดในสนามรบ และจุดมุ่งหมายในแต่ละครั้งของสนามรบก็ต้องมีชุดปฏิบัติการของจุดมุ่งหมายนั้นๆ และในแต่ละชุดปฏิบัติการจะต้องมีวิธีการเพื่อให้ได้รับชัยชนะ” และ“ยุทธวิธีคือศิลปะของการใช้กองกำลังในการต่อสู้ กลยุทธคือศิลปะของการต่อสู้เพื่อเอาชนะสงคราม” จากข้อความ อาจจะวิเคราะห์ได้ในระดับหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์หรือ Strategy มักมีการใช้กันในวงการทหาร แต่เมื่อมีการประยุกต์ใช้ในทางสังคม การบริหารการพัฒนา การบริหารธุรกิจ วงการศึกษาหรืออื่นๆ ที่พลเรือนปฏิบัติ จะนิยมใช้คำว่า “กลยุทธ์” อันเนื่องจากความดุดันในภาษาจะน้อยลง จึงมีการปรับใช้แทนคำว่า ยุทธศาสตร์ แต่ก็ยังมีการใช้ภาษาอังกฤษร่วมกันคือ Strategy อย่างไรก็ตาม คำว่า ยุทธศาสตร์ ยังเป็นที่นิยมใช้กับการบริหารการพัฒนา ที่อาศัยอำนาจทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง มีความต้องการใช้งบประมาณที่มีปริมาณมาก จึงสะท้อนออกมาในลักษณะของเป้าหมายนโยบายสาธารณะ ที่ส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์แห่งภาครัฐเป็นอย่างมาก(Feurer,R and Chaharbaghi,K,1995) Andrews, K.R(1971) นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์รุ่นบุกเบิกของโลก ได้อธิบายความหมายของยุทธศาสตร์ ว่า หมายถึง กระบวนการตัดสินใจ ที่มีเหตุผลภายใต้ทรัพยากรขององค์กรและการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย และThorelli, H.B(1977) และ Aldrich, H.E(1979) ยังได้เพิ่มอีกว่า ยุทธศาสตร์เป็นความสามารถขององค์กร ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการในการเข้าถึงวัตถุประสงค์หลักขององค์กรอย่างแท้จริง ฉะนั้นมองว่า นักวิชาการรุ่นบุกเบิกทั้ง 3 ท่าน ได้นิยามความหมายของยุทธศาสตร์ในลักษณะของวิธีการเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และการขับเคลื่อนองค์กรเป็นอย่างดี Porter, M,E(1996) ซึ่งเป็นกูรูทางด้านการบริหารจัดการของโลก ได้นิยามความหมายของยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากนักวิชาการรุ่นก่อน โดยได้กล่าวถึงความหมายของยุทธศาสตร์ ว่า หมายถึง การสร้างความแตกต่างขององค์กรที่มีต่อคู่แข่ง และสามารถรักษาหรือยืนระยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่ความพยายามในการเอาชนะคู่แข่ง หรือพยายามบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรโดยใช้ทรัพยากรของตนเอง และการพึ่งพาระบบจากแหล่งอื่น จนไม่สามารถสรรค์สร้างนวัตกรรมการเอาตัวรอดของตนเองได้เลย ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องคือ ความสามารถในการส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับสภาพบริบทและสิ่งแวดล้อมที่แย่กว่าหรือเท่ากัน เช่นกรณีของความสามารถในการสรรหาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกัน ยังมีความมุ่งเน้นให้เกิดความแตกต่างของการใช้ต้นทุนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่นกรณีของการกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรเกิดความรู้ ความเข้าใจและการสร้างค่านิยมร่วมให้ครอบคลุมเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ให้มากที่สุด ทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพอย่างแท้จริงอันนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด ทำให้องค์กรมีความอยู่รอดได้ในระยะยาว กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค หมายถึง ความสามารถในการสร้างคุณค่าต่อเป้าหมายของนโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ ระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบกิจกรรมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันส่งผลต่อการพัฒนาเป็นวงกว้าง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และสภาพบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คุณสมบัติของความรอบรู้ในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคจึงสำคัญมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรงในการปรับใช้ยุทธศาสตร์กับพื้นที่ที่ต้องการพัฒนา ความถูกต้องทางวิชาการ ตลอดจนถึงการนำผลการวิเคราะห์การใช้ยุทธศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการปรับใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคในแต่ละครั้ง ส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในพื้นที่ โดยการขับเคลื่อนขององค์กรภาครัฐและเอกชน จุดเริ่มต้นที่ดี จึงมักสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคโดยจะมีการกล่าวถึงในลำดับถัดไป ความเป็นมาและความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค นับตั้งแต่นายพลจำนวน 10 นายได้นำยุทธศาสตร์ไปใช้กับทหารในกองทัพของกรุงเอเธนส์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับทหารในการทำสงครามในช่วง 508 ปีก่อนคริสกาล ส่งผลให้ยุทธศาสตร์มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ยุคนั้น ขณะเดียวกันทางฝั่งโลกตะวันออกยังมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันคือตำราพิชัยสงครามที่เขียนโดย “ซุนวู” ปราชญ์จีนผู้โด่งดังในจีนสมัยโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล กลายเป็นสมมติฐานที่นำไปสู่การอ้างอิงแนวทางในการยุทธ์มาโดยตลอด จนกลายเป็นต้นแบบของการนิยามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสังคม โดยมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางและมีการนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน จนมีการใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่วงการกีฬาตลอดจนถึงศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้(Freedman,L,2017) ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะของการบริหารราชการแผ่นดินของทุกประเทศในปัจจุบัน ตลอดจนกระทั่งมีการรวมกลุ่มประเทศเพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกัน เช่นกรณีของระเบียงเศรษฐกิจต่างๆในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กรอบความร่วมมืออาเซียน และหรือการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อปรัชญาการดำรงอยู่ของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกล่าวถึง การนำยุทธศาสตร์ไปใช้กับการบริหาราชการแผ่นดินและหรือการบริหารนโยบายสาธารณะของประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกในปัจจุบัน ได้รับแบบอย่างมาจากนโยบายทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก กล่าวคือ เริ่มต้นจาก แผนการมาแชล( Marshall Plan) หรือชื่อทางการคือ European Recovery Program (ERP) ตามชื่อ จอร์จ ซี มาร์ซล รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้นำเสนอแผนดังกล่าวทั้งนี้แผนการมาแชลเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยออกแบบมาเพื่อมุ่งทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ 17 ประเทศในยุโรปตะวันตกและใต้หลังสงครามโลกที่ 2 โดยการอนุมัติงบประมาณจำนวน 13 พันล้านดอลลาร์ ในการดำเนินความช่วยเหลือทางการเงิน ความรู้ วัสดุ และสิ่งของ รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินให้กับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งในรูปของเงินกู้หรือให้เปล่า ส่งผลต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตก และมีบทบาทสำคัญในช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรกของกระบวนการบูรณาการและการจัดการทั้งทางการเมือง การปกครองระหว่างประเทศในทวีปยุโรป โดยมีการสร้างสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อควบคุมปัจจัยทางด้านการค้าระหว่างประเทศ บทบาทและความสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุโรปจึงมีมากขึ้น ผนวกกับแผนการมาแชลยังเป็นที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ดังกรณีของการให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และการประกอบธุรกิจในภาคพื้นยุโรป ส่งผลต่ออิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศในยุโรป เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “การทำให้เป็นอเมริกัน” (Ludwig,C,2018) นี่คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญ อันส่งผลต่ออำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ “การทำให้เป็นอเมริกัน” ไม่ส่งผลกระทบต่อยุโรปตะวันตกมากนัก สืบเนื่องจากมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน การปะทะสังสรรค์ทางยุทธศาสตร์จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางการเมืองและเศรษฐกิจ แตกต่างจากการเข้าไปช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา ในฝั่งทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้างจากการดำเนินยุทธศาสตร์โดยใช้แผนการมาแชลที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อกระบวนทัศน์ในการพัฒนาระยะยาว อันเนื่องมาจากบริบท สังคม วัฒนธรรมที่ต่างกัน มีความขัดแย้งทางความคิด กระทบต่อความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น(ปัจจุบันสหพันธรัฐรัสเซีย,ผู้เขียน) กลายเป็นสงครามเย็น ลุกลามไปทั่วโลก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลักดันให้สหรัฐอเมริกา ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งอย่างเต็มตัว ส่วนหนึ่งเพื่อดำรงสถานะภาพของตนเองไว้ ก่อให้เกิดปัญหาสงครามทางการเมืองและปัญหาอื่นๆตามมามากมาย สุดท้าย สหรัฐอเมริกาต้องกลับมาทบทวนประเด็นการใช้ยุทธศาสตร์ของตนเอง และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ กลายเป็นแนวคิดในการบริหารการพัฒนา อันเปรียบเสมือนวิธีการนำไปสู่เป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่มีความสามารถในการปรับตัวและประยุกต์ได้ด้วยตัวของมันเองตลอดเวลา (Feurer,R and Chaharbaghi,K,1995) ประสิทธิภาพของการบริหารการพัฒนา สามารถพิจารณาได้จากการประยุกต์ใช้กับการบริหารโครงการขนาดใหญ่เพื่อการจัดการน้ำและการเกษตรในหุบเขาเทนเนสซี่(Tennessee Valley Authority :TVA) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีการวางเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา จนประสบผลสำเร็จ การประยุกต์ใช้หลักการในการบริหารพัฒนาในครั้งนั้นกลายเป็นแบบอย่างของการบริหารการพัฒนาในปัจจุบัน รวมทั้งการสังเคราะห์แนวความรู้อื่นๆ เช่นการบริหารจัดการองค์กร การบริหารภาครัฐ โดยมูลนิธิฟอร์ดซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก(George F. Gant,1979) ทั้งจากการเข้ารับการศึกษาของประชาชนประเทศด้อยพัฒนาในสหรัฐอเมริกา(โดยการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา)และหรือการเข้ามาให้คำปรึกษา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากกลไกของการปล่อนสินเชื่อระยะยาวทั้งในรูปแบบการให้กู้และให้เปล่า จากนั้นเป็นต้นมา การบริหารการพัฒนา นอกจากจะใช้สำหรับการบริหารนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้ายมีการประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวไปสู่แนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร(ในสมัยนั้น) นำเอาคำว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนา มาใช้เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล กลายเป็นไวรัล[2](Viral Marketing) ซึ่งเป็นที่สนใจในวงราชการ เอกชน และนักวิชาการ อีกทั้งยังมีการนำหลักการของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการจัดตั้งกลุ่มจังหวัด 19 กลุ่มจังหวัด และพัฒนากลายเป็นรูปแบบการบูรณาการในลักษณะภาค ในยุคของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากนั้นยังมีการจัดทำหลักสูตรยุทธศาสตร์การพัฒนา(ยุคคลาสสิค) และหลักสูตรยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค(ยุคปัจจุบัน)ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นิยมจัดการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา จากประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคดังกล่าวข้างต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค อาจพิจารณาเปรียบเสมือนเครื่องมือในการนำไปสู่ความงอกงามสุขภาวะทาง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน มักเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค จึงเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเป็นอนิจจังของจักรวาลอย่างเที่ยงแท้แน่นอน ทั้งในรูป ความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน และตั้งอยู่ในสภาวะเดิมได้ยาก ดังปรากฏอยู่ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใช้และหรือประเทศเหล่านั้นจะนำยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคไปในทางด้านใด ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค นอกจากจะนำไปสู่ความเจริญงอกงามของพื้นที่ในระดับมหภาคแล้ว ส่วนหนึ่งคือการเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดปัญหาทุกข์ร้อนทั่วโลก ทั้งจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสงครามในประเทศ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาการก่อการร้าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ และการเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ฯลฯ การปรับกระบวนทัศน์ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค จึงต้องปรับเปลี่ยนจากคุณลักษณะที่มีความแข็งกร้าว เป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนั้น ลักษณะของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาให้เกิดความงอกงามอย่างแท้จริง คือสิ่งสำคัญที่สุด Aldrich, H.E.(1979).Organizations and Environments. PrenticeHall,Englewood Cliffs, NJ. Andrews, K.R.(1971).The Concept of Corporate Strategy. Richard D. Irwin, Homewood, IL. J. Boone Bartholomees, Jr.(2006). Department of National Security and Strategy. GUIDE TO NATIONAL SECURITY POLICY AND STRATEGY . 2nd Edition .U.S. ARMY WAR COLLEGE. Freedman,L.(2017).The Meaning Of Strategy. Texas National SecurityReview: Volume 1, Issue 1 (December 2017).PP.90-105. Feurer,R and Chaharbaghi,K.(1995). Strategy Development: Past, Present and Future. Management Decision, Vol. 33 No. 6, 1995, PP. 11-21. MCB University Press Limited, 0025-1747. George F. Gant.(1979). Development Administration : Concepts, Goals,Methods . Madison, Wisconsin : The University of Wisconsin Press, P. 20. Ludwig,C.(2018).European Recovery Program. Online.https://bit.ly/3MZB4El. Accessed on 16 June 2022. Mau,K And Seuren,R.(2022). One belt, one road, one way? Where European exporters beneft from the new silkroad. Review of World Economics. Springer. Online .https://bit.ly/3QtxAwD. Accessed on 16 June 2022. Mckeown,M.(2012). The Strategy Book. Maverick & Strong Limited. Porter M,E. (1996). What is strategy?. Harvard Business Review. November-December 1996. Vol. 74 No.6 .PP.61–78. Grant R, M. & Jordan,J.(2015). Foundations of Strategy. Second Edition.Wiley. Thorelli, H.B.(1977). Strategy + Structure = Performance: The Strategic Planning Imperative.Indiana University Press, Bloomington. [1] ประกอบไปด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน(ตอนใต้) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งต่อไปนี้ ผู้เขียนจะใช้ชื่อว่า จีน สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมา เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงทั้งเล่ม) [2] หมายถึง การสื่อสารแบบปากต่อปากอย่างรวดเร็ว ทั้งจากเครื่องมือสื่อสาร และสื่อออนไลน์ โดยศัพท์คำว่า ไวรัล เกิดจากการนำคำสองคำมารวมกันคือ VIRUS+ORAL หรือ เชื้อโรค+ปาก รวมกันใหม่แปลว่า ปากต่อปาก โดยใช้สื่อออนไลน์ คำว่า ไวรัล ไม่มีปรากฏในการใช้ของช่วงระยะเวลาดังกล่าว การอธิบายเพื่อให้สามารถเข้าใจได้โดยง่าย เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบัน *เนื้อหาส่วนหนึ่งของตำราของผู้เขียนใน รายวิชา แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน *อ้างอิงภาพประกอบบทความจาก https://www.jcount.com/how-to-create-simple-business-strategy/ อ้างอิงบทความนี้วิกรม บุญนุ่น. (2567). ความหมายและความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค. รอบรั้ว NEC. (ออนไลน์). URL: https://kmnec.crurds.com/archives/119 ยุทธศาสตร์ NEC