ระเบียงเศรษฐกิจกับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, July 27, 2024January 28, 2025 Post Views: 403 1.ที่ตั้งและศักยภาพ จังหวัดเชียงรายมีประชากรทั้งหมด 1,298,687 คน เป็นจังหวัดชายแดนทางภาคเหนือของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2(เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) เป็นจังหวัดที่มีความพิเศษมากกว่าจังหวัดอื่นในประเทศไทยตรงที่มีชายแดนติดกับ 2 ประเทศคือ เมียนมาร์ และ สปป.ลาว และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ การเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพียงน้ำโขงกั้น ขณะเดียวกันยังสามารถเดินทางโดยรถยนต์ ทางเรือ และทางอากาศไปยังประเทศจีนได้ภายในวันเดียว โดยจังหวัดเชียงรายนั้นมีเนื้อที่ทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 11,678.369 ตร.ก.ม. หรือประมาณ 7,298,981 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 785 กิโลเมตร จังหวัดเชียงรายอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ซึ่งสามารถไปทางเหนือเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยทางบกอาศัย 2 เส้นทาง ได้แก่ ถนน R3A (ผ่านด่าน เชียงของ และ สปป.ลาว) และ R3B (ผ่านด่านแม่สาย และเมียนมาร์) สำหรับทางน้ำสามารถขนส่งโดยอาศัยแม่น้ำโขงโดยผ่านท่าเรือเชียงแสนทั้งเอกชนและของหน่วยงานรัฐ สามารถเชื่อมโยงลงมาทางใต้สู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกทางทะเลไปยังภูมิภาคอื่นของโลก ดังนั้นเชียงรายจึงมีศักยภาพในการให้บริการด้านโลจิสติกส์แก่จีนตอนใต้และพื้นที่ตอนบนของเมียนมาร์และ สปป.ลาว เพื่อขนส่งสินค้าออกทางทะเลที่แหลมฉบัง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในเชียงรายกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนบนของเมียนมา และ สปป.ลาว และจีนตอนใต้ นอกจากนั้นอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เครื่องเรือนแปรรูปไม้ มีโอกาสพัฒนาขยายห่วงโซ่มูลค่าการผลิตได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ด้วยศักยภาพทางพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายที่มีอยู่สามารถส่งออกสิน้คาตลอดทั้งการนำเข้าสินค้าหลายประเภทผ่านทางด่านศุลกากรเชียงแสนซึ่งอยู่ติดกับเมืองต้นผึ้งและด่านมังกรของบริษัทคิงโรมันหรือดอกงิ้วคำของจีนซึ่งเข้ามาเช่าที่ดินและกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษต้นผึ้งในปัจจุบัน ตลอดจนด่านศุลกากรเชียงของซึ่งอยู่ติดกับเมืองห้วยทราย ตลอดจนด่านศุลกากรแม่สายซึ่งอยู่ติดกับเมืองท่าขี้เหล็ก สำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา และพืชผัก นอกจากนี้ ยังมีพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จังหวัดมุ่งพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่น ได้แก่ ชา กาแฟ และสับปะรด โดยสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ (Champion product) ในจังหวัดเชียงราย เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ชา กาแฟ สับปะรด และสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพภายในจังหวัด เช่น แยมชาเขียว หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เมี่ยง (ชาหมัก) เป็นต้น[1] จากที่ตั้งและศักยภาพทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ในระดับหนึ่งว่า จังหวัดเชียงรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ 3 อำเภอ อันได้แก่ อำเภอแมสาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ มีศักยภาพสูงในการที่จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งโดยที่สุดเล้ว รัฐบาลไทยในสมัยพลเอกประยุทธจันทร์โอชา จึงได้ประกาศให้จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะ ทั้งสามอำเภอดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จากภาพจะพบว่า 1.เขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สาย ครอบคลุม 8 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลเกาะช้าง ตำบล บ้านค่าย ตำบลโป่งงาม ตำบลโป่งผา ตำบลแม่สาย ตำบลเวียงพางค้า ตำบลศรีเมืองชุม และตำบลห้วยไคร้ รวมพื้นที่ 304.78 ตารางกิโลเมตร หรือ 190,487.5 ไร่ ส่วนพื้นที่รัฐที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมจะมี 3 แปลงติดต่อกันติดถนนพหลโยธินซึ่งเป็นที่ดินของโรงงานยาสูบ ซึ่งแม่สาย จะมีจุดเด่น คือ การด้านค้าชายแดนและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ดังนั้นจึงมีการวางโครงสร้างของเมืองแบบหลายศูนย์กลาง เน้นการกระจายศูนย์กลางพาณิชยกรรมออกจากศูนย์กลางเดิมและเพิ่มศูนย์กลางพาณิชย์แห่งใหม่ นอกจากนี้ได้จัดแบ่งพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์จัดระเบียบพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชายแดนให้สวยงาม สร้างเอกลักษณ์ ของพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคไทย-เมียนมา 2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงแสน ครอบคลุม 6 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลบ้านแซว ต้าบลป่าสัก ตำบลแม่เงิน ตำบลโยนก ตำบลเวียง และตำบลศรีดอนมูล รวมพื้นที่ 456.86 ตารางกิโลเมตร หรือ 291,162.5 ไร่ ส่วนพื้นที่เขตอุตสาหกรรมบนที่ดินรัฐจะเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ประมาณ 1,000 ไร่ขึ้นไป ซึ่งอยู่บริเวณท่าเรือเชียงแสน ซึ่งสามาถส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวทางน้ำไปยังจีนตอนใต้ โดยมีระยะทาง 300 กิโลเมตร เนื่องจากเชียงแสนมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นจึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาในตำแหน่งที่เหมาะสมและจำกัดการขยายตัวของชุมชนแบบไร้ทิศทาง ขณะเดียวกันได้กำหนดให้สร้างแลนด์มาร์คเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ เน้นรูปแบบการพัฒนาเชิงอนุรักษ์แยกพื้นที่ระหว่างชุมชนเก่าและชุมชนพัฒนาใหม่ ส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงให้มีกิจกรรมบริการให้กับนักท่องเที่ยว สงวนรักษา พื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ อนุรักษ์พื้นที่เกษตรชั้นดีและพื้นที่โล่งริมน้ำเพื่อเปิดมุมมองให้เกิดความสวยงาม รวมถึง การอนุรักษ์เมืองเก่า กำหนดพื้นที่พัฒนาโดยมีระยะถอยร่นจากเขตโบราณสถาน ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงระดับอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการวางผังโครงข่ายระบบคมนาคมเพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า 3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ ครอบคลุม 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลครึ่ง ตำบลบุญเรือง ตำบลริมโขง ตำบลเวียง ตำบลศรีดอนชัย ตำบลสถาน และตำบลห้วยซ้อ รวมพื้นที่ 783.20 ตารางกิโลเมตร หรือ 489,500 ไร่ ถูกกำหนดให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมริมแม่น้ำโขงเน้นกิจกรรมทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดให้เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ด้านสินค้าเกษตร อยู่บริเวณติดกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (เชียงของ-ห้วยทราย) ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้าจับจองพื้นที่เป็นจำนวนมากเพื่อลงทุนในสาขาต่างๆ อาทิ นักลงทุนจากจีน ได้แก่ บริษัท เจ๋ฟง โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ เจ๋ฟง ยูนนาน บริษัทโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลยูนนาน ได้เข้ามาซื้อที่ดินกว่า 300 ไร่ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงราย-ห้วยทราย) มีการพัฒนาโกดังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ห้องเย็นรองรับสินค้าจากประเทศจีน และยังมีแผนจะพัฒนาศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรมระดับ 4–5 ดาวและอพาร์ตเมนต์ เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ราคาที่ดินปัจจุบันพุ่งไปที่กว่า 20 ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะบริเวณถนน R3A รัศมีใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ส่วนพื้นที่เขตอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ดินรัฐ ล่าสุดคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการเห็นชอบให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณบ้านทุ่งงิ้ว เนื้อที่ 500 ไร่ขึ้นไป ซึ่งการใช้ประโยชน์ทางผังเมืองไม่เน้นให้ใช้พื้นที่สีม่วง เนื่องจากคนในพื้นที่ไม่ต้องการให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงกำหนดประเภทกิจการหลากหลาย อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ 2.โครงสร้างทางเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงรายมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเท่ากับ 176,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวเท่ากับ 218,000 บาท/คน/ปี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเท่ากับ 53.6 ทั้งนี้สินค้าที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายคือ 1. ข้าวหอมมะลิ ปี 2566 จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ 244,224 ไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อำเภอพาน ผลผลิตรวม 162,438 ตัน 2. ชา จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ ปลูกชา 90,030 ไร่ แบ่งเป็น 2 สายพันธุ ์ คือ สายพันธุ์จีน (อู่หลง) และชาสายพันธุ์อัสสัม ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งชิมชา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และได้จดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ “จีไอ” (GI : Geographical Indication) ด้วยภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูง มีดินอุดมสมบูรณ์ ฝนตกชุก ต้นชา จึงเจริญงอกงามและมีคุณภาพ 3. กาแฟ จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยปลูกในภูมิประเทศภูเขาสูง ที่ระดับความสูง 900 -1,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งหมด 53,891 ไร่ ผลผลิตมากถึง 3,197 ตัน 4. สับปะรดนางแล เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ “จีไอ” (GI : Geographical Indication) ภาคเหนือ พื้นที่ปลูก อำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 3,080 ไร่ ผลผลิตรวม 6,096 ตัน 5. สับปะรดภูแลเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ “จีไอ” (GI : Geographical Indication) พื้นที่ปลูกอำเภอ เมืองเชียงราย จำนวน 27,709 ไร่ ผลผลิต 73,873 ตัน 6. ส้มโอเวียงแก่น การตลาดส้มโอเวียงแก่นเป็นการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 70 ที่เหลือร้อยละ 30 เป็นการจำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศ โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ซึ่งจะเน้นคุณภาพระดับสูง (เบอร์ 1-2) ส่วนส้มโอเกรดต่ำลงมา (เบอร์ 3-4) จะส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา โดยส่งออกได้ทั้ง 3 สายพันธุ์หลัก คือ ทองดี เซลเลอร์ และขาวใหญ่ และอยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ “จีไอ” (GI : Geographical Indication) โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 9,602 ไร่ ผลผลิต 43,324 ตัน 7. โคเนื้อ เป็นที่นิยมเลี้ยงทั่วไป จังหวัดเชียงรายมีโคเนื้อ 53,420 ตัว เกษตรกร 6,786 ราย พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่คือ พันธุ์อเมริกันบราห์มัน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ที่มีคุณสมบัติให้เนื้อโดยตรงและสามารถเจริญเติบโตได้ดีตามสภาพแวดล้อม ได้แก่ พันธุ์ชาร์โรเลส์พันธุ์ซิมเมนทอลและพันธุ์ลิมูซีน แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในเขตอำเภอเมือง เทิง และแม่สรวย 8. ปลานิล ลักษณะเด่นเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย พื้นที่เลี้ยงอำเภอพาน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเมือง อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ลาว และอำเภอป่าแดด จำนวนพื้นที่เลี้ยง 14,139.59 ไร่ ผลผลิตประมาณ 12,679.57 ตัน มีการจัดตั้งสหกรณ์/กลุ่ม/ชมรม ที่ประกอบกิจการด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบครบวงจร ทั้งการผลิตและการตลาด 9. กุ้งก้ามกราม ปัจจุบันนี้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามกันอย่างแพร่หลายที่ พื้นที่เลี้ยงอำเภอเทิงและอำเภอแม่จัน จำนวนพื้นที่เลี้ยง 866.58 ไร่ ผลผลิตประมาณ 50.40 ตัน มีการจัดตั้งกลุ่ม /ชมรม ที่ประกอบกิจการด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบครบวงจร ทั้งการผลิต และการตลาดอีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตกุ้งที่สำคัญของภาคเหนือ[2] จากรายละเอียดดังกล่าวจึงพบว่า เชียงรายเป็นพื้นทีที่มีโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศ และสามารถเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ ทำให้เหมาะสมแก่การเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้า สามารถการกระจายสินค้าได้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับเป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในทั้ง 3 อำเภอที่ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่สาย นอกจากนี้ จังหวัดเชียงรายยังมีจุดเด่นในด้านของภาคบริการ ทั้งในด้านของค้าปลีกค้าส่ง และการท่องเที่ยว โดยเคยมีการศึกษาวิจัยถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายในภาคการเกษตร ภาคการบริการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการลงทุนของเอกชน ภาคการบริโภคของครัวเรือน และภาคการค้าชายแดนมา แต่จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นพบว่า มีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกิจกรรมการผลิตเดียวที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเชียงราย เป็นเพราะจังหวัด ยังไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาลงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สภาพพื้นที่ผังเมืองของจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับประชาชนในจังหวัดเชียงรายยังประกอบอาชีพเกษตรแบบดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถขยับการผลิตไปในด้านของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต โดยเชียงรายมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความพร้อมสำหรับการนำแปรรูป สร้างแบรนด์ และทำการตลาด[3] สำหรับการค้าชายแดนของเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายพบว่า ในส่วนของด่านศุลกากรแม่สายที่มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองท่าขี้เหล็ก มีมูลค่าส่งออก 823,612,318.53 บาท นำเข้า15,833,651.78 บาท โดยน้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่นจะมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องดื่มต่างๆ ผงชูรส ปูนซีเมนต์ ตามลำดับ[4] ในส่วนของด่านศุลกากรเชียงแสน มีมูลค่าส่งออกรวม 2,421,573,751.85 บาท นำเข้า 1,411,086,331.71 โดยผลไม้สด จะมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมา น้ำมันเบนซิน และดีเซล เครื่องอุปโภค ดอกไม้แห้ง ดอกกล้วยไม้ วัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ตามลำดับ[5] ในส่วนของด่านศุลกากรเชียงแสน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 8,344.740 ล้านบาท นำเข้ามีมูลค่า 443.614 ล้านบาท โดยรถยนต์จะมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ปูนซีเมนต์ เบียร์ บุหรี่ น้ำมันปาล์ม ตามลำดับ โดยจะเห็นว่า ในด่านศุลกากรเชียงแสนนี้จะเป็นด่านท่าเรือชพาณิชย์เชียงแสน การขนย้ายจะมีลักษณะของที่มีขนาดใหญ่และส่งไปยังเมียนมาร์ และประเทศจีนเป็นหลัก การส่งออกและนำเข้าของจังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากกว่าแหล่งอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด เพราะการส่งออกและนำเข้าไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินการไปยังประเทศที่ 2 เท่านั้น(จีน เมียนมาร์ และ สปป.ลาว) แต่ยังหมายรวมถึง เขตเศรษฐกิจพิเศษต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันยังมีความต้องการวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ และแรงงานมีฝีมืออีกนับไม่ถ้วนและตลอดเวลา จังหวัดเชียงรายจึงเป็นจังหวัดปลายทางของนักลงทุนในการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา 3.ความเคลื่อนไหวภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย 3.1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ Borad of Investment (BOI) ดำเนินการลงทุนแล้ว 5 โครงการ วงเงิน 136 ล้านบาท (จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ 7 โครงการ วงเงิน 185 ล้านบาท) 3.2 มีการดำเนินการจัดตั้งธุรกิจตั้งใหม่ จำนวน 1,111 ราย วงเงิน 1,859.42 ล้านบาท 3.3 มีการสร้างสิ่งอำนายความสะดวกแล้วเสร็จในด่าน ศุลกากรแม่สาย/ ทางหลวงหมายเลข 1290 อ.เชียงแสน – อ.เชียงของ ตอน 3/ ทางเลี่ยงเมืองเชียงรายด้านตะวันตก/ ด่านศุลกากรเชียงแสนแห่งใหม่/ ศูนย์ เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ 3.4 มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางหลวงหมายเลข 1021 อ.เทิง-อ.ดอกคำใต้ ตอน อ.เชียงคำ-อ.เทิง 3.5 มีการส่งเสริมและสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ มาตรการทางผังเมืองโดยไม่ต้องมีการจัดหาที่ดินของรัฐ 3.6 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติก่อสร้างทางรถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงของ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยการก่อสร้าง ณ เดือนตุลาคม 2566 มีความคืบหน้ารวมร้อยละ 3.016 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.289 ( แผนงานร้อยละ 2.727) โดยมีระยะเวลาก่อสร้างรวม 7 ปี (71 เดือน) สัญญาก่อสร้างสิ้นสุด วันที่ 14 มกราคม 2571 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2571 3.7 การท่าเรือแห่งประเทไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างทางลงเพื่อขนย้ายโคเนื้อส่งออกไปยังประเทศจีน ในบริเวณท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน โดยรายละเอียดผู้เรียบเรียงจะขอนำเสนอการดำเนินงานในบทที่ 8 3.8 จังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะทำงานสนับสนุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ด้านการจัดหาที่ดินของรัฐสำหรับเอกชนและหน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์) ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้จัดการสัมมนาและประชุมภาครัฐและเอกชน ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เรื่อยมา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต่อมา คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2559 เห็นชอบการจัดหาที่ดินตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ เพื่อมาใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีแปลงที่ดินที่มีความเหมาะสมตามที่จังหวัดเชียงรายได้นำเสนอ 3 แปลงดังนี้[6] (1) อำเภอแม่สาย มีจำนวน 1 แปลง คือ ที่ราชพัสดุทะเบียนเลขที่ อ.ชร.1 โฉนด เลขที่ 467 ตำบลโป่งผา เนื้อที่ประมาณ 720 ไร่ สถานะปัจจุบัน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุในนาม กระทรวงการคลังและโรงงานยาสูบใช้ประโยชน์ โดยให้ประชาชนเช่าพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ยาสูบ เป็นต้น จากการสำรวจพื้นที่พบว่าบริเวณดังกล่าวที่ตั้งมีความเหมาะสมเนื่องจากมีที่ตั้งริมทาง หลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มีการเข้าถึงในพื้นที่สะดวกและใกล้กับด่านชายแดนแม่สาย กรมธนารักษ์ เจรจากับโรงงานยาสูบเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยโรงงานยาสูบชี้แจงเหตุผลความจำเป็นว่าเป็นแหล่งปลูกยาสูบที่ให้ผลผลิตสูงและดีที่สุดของประเทศ (2) อำเภอเชียงแสน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน สปก. ตำบลบ้านแซว บริเวณท่าเรือ พาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 มีเนื้อที่ประมาณ 651 ไร่ (บริเวณพื้นที่ริมถนนฟากตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 291 ไร่ และฟากตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 360 ไร่ โดยจะกันพื้นที่ชุมชนออก) สถานะบริเวณดังกล่าวมีการออก สปก. 4-01 เต็มทั้งพื้นที่และได้จัดสรรให้ราษฎรทำกินแล้ว โดยมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพาะปลูกพืชไร่ (สับปะรด มะละกอ) เป็นส่วนใหญ่ และนาข้าว ยางพารา บางส่วน จากการประชุม กนพ. ครั้งที่ 1/2559 ได้มอบหมายให้ สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ดำเนินการพิจารณาแนวทางการจัดที่ดินอื่น หรือชดเชยการเสียสิทธิ์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ก่อนถอนสภาพพื้นที่ด้วย ม.44 คณะทำงานฯ ได้ประมาณการค่าเยียวยาให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ที่ดิน ไร่ละ 200,000 บาท แต่ข้อเสนอของทางชุมชน ได้เสนอในราคาไร่ละ 900,000 บาท โดยมติที่ประชุมอนุฯ ที่ดิน ครั้งที่ 2/2559 ได้ขอยกเลิกแปลงที่ดินดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อราษฎรเป็นจำนวนมาก และข้อเสนอค่าเยียวยานั้นมีราคาที่สูง อาจเป็นภาระต่องบประมาณมากเกินไป ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน (3) อำเภอเชียงของ มีจำนวน 1 แปลง คือสาธารณะประโยชน์ “ที่เลี้ยงสัตว์บ้าน ทุ่งงิ้ว” ตำบลสถาน เนื้อที่ประมาณ 531 ไร่ สถานะได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ “ที่เลี้ยงสัตว์บ้านทุ่งงิ้ว” โดยพบว่า มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อยู่ริมแม่น้ำอิงมีหนองน้ำธรรมชาติในพื้นที่ ไม่มีราษฎรเข้าไปทำการเกษตร มีเพียงการเก็บของป่าและเลี้ยงสัตว์ จากการประชาคมหมู่บ้าน อ.เชียงของ แจ้งว่าที่ประชุมประชาคมมีมติว่าจะอนุรักษ์ที่ดินดังกล่าวไว้เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านต่อไป จ.เชียงราย จึงจะได้รายงานผลการดำเนินงานดังกล่าว ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ กระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา โดยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและการบริหารจัดการฯ ครั้งที่ 1/60 เห็นชอบให้ชะลอการจัดหาที่ดินในพื้นที่ อ.เชียงของ เอาไว้ก่อน จากการดำเนินงานที่ผ่านมา จังหวัดเชียงรายพบว่ามีอุปสรรคในการจัดหาที่ดินของภาครัฐ ทั้ง 3 อำเภอแตกต่างกันไป ดังนั้น จังหวัดเชียงรายจึงได้จัดการประชุมคณะทำงานสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการที่ดินที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์และเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ โดยมติที่ประชุมดังกล่าว จังหวัดขอเสนอแนวทางการจัดหาที่ดินเพิ่มเติม โดยเสนอที่ดินของเอกชนขนาดเนื้อที่แต่ละแปลงประมาณ 800 – 1,000 ไร่ ทั้ง 3 อำเภอ เพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ซึ่งข้อมูลเบื้อต้นได้เสนอราคาที่ดินประมาณ 300,000 บาทต่อไร่ เพื่อพิจารณา สรุปการจัดหาที่ดินในการประชุมคณะอนุกรรมด้านการจัดหาที่ดินและการบริหารจัดการ ครั้งที่ 1/2561 (24 ส.ค.61) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในขณะนั้น) เป็นประธาน โดยมติที่ประชุม เห็นชอบให้ชะลอการจัดหาที่ดินฯ ในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอของจังหวัดเชียงรายไว้ก่อน เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในการที่ภาครัฐจะไปซื้อที่ดินของภาคเอกชนมาพัฒนา ซึ่งทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ก็ยังคงความเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอยู่ โดยมีแนวทางแก้ไข คือ ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ และนำเสนอข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์อย่างรอบด้านให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 3.9 การบริหารจัดการด้านแรงงานต่างด้าวแบบไป – กลับ[7] กระทรวงแรงงานได้จัดทำแนวปฏิบัติการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงานในลักษณะ ไป-กลับ หรือตามฤดูกาลตามมาตรา 14 แห่ง พรบ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยคนต่างด้าวสามารถถือบัตรผ่านแดนเข้าจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย – ท่าขี้เหล็ก สามารถทำงานใน 3 อำเภอ คือ อ.แม่สาย อ.แม่จัน และ อ.เมือง (ระยะเวลา 30 วันต่อครั้ง) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – ปัจจุบัน [7] ข้อมูลสรุปการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย โดย กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดเชียงราย [6] ข้อมูลสรุปการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย โดย กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดเชียงราย [5] https://maesai.customs.go.th/(ด่านศุลกากรอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าสืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567) [4] https://shorturl.asia/GCnLM(ด่านศุลกากรอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าสืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567) [3] http://rs.mfu.ac.th/obels/?p=826 [2] เอกสารสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ข้อมูล วันที่ 31 มกราคม 2566 [1] http://rs.mfu.ac.th/obels/?p=1848 อ้างอิงบทความนี้วิกรม บุญนุ่น. (2567). ระเบียงเศรษฐกิจกับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย. รอบรั้ว NEC. (ออนไลน์). URL: https://kmnec.crurds.com/archives/149 มหายุทธศาสตร์สู่ระเบียงเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ NEC