ภาพรวมระเบียงเศรษฐกิจในประเทศไทย ผศ.ดร.วิกรม บุญนุ่น, February 22, 2024January 28, 2025 Post Views: 589 ระเบียงเศรษฐกิจเป็นแรงบันดาลใจจากเส้นทางสายใหม่เส้นเก่าและเส้นใหม่ของประเทศจีน ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างเมืองที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน จนในปัจจุบันจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศจีนได้นำเอากรอบคิดดังกล่าวไปปรับใช้กับโครงการ One Belt One Roadหรือเส้นทางสายใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ระหว่าง 60 ประเทศ ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านี้กลายเป็นรายได้ของสหประชาชาติร้อยละ 50 ของทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์เส้นทางสายใหมแห่งใหม่นี้มิใช่กรอบความคิดใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ เพียงแต่เป็นกรอบความคิดซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 30 ปีที่แล้วโดยแรงผลักดันของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยการผลักดันของธนาคารแห่งเอเชียหรือ Asian Development Bank(ADB) โดยในขณะนั้นได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเส้นทางพาดผ่านตั้งแต่ประเทศไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ส่งผลให้ประเทศจีนได้รับอานิสงค์จนนำไปใช้สนับสนุน(ต่อ)ในโครงการ One Belt One Road ภายหลังจากการปฏิบัติสร้างของ One Belt One Road กลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจเพื่อพาดผ่านไปยังหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ(ประเทศ) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ยังผลให้มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนน ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศต่างๆระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างต่างๆ ของระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะดำเนินการพัฒนาตามเส้นทางของระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า พื้นที่ใดมีการส่งออกและนำเข้าก็จะมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับทุกพื้นที่ที่มีการขนส่งไหลผ่าน เช่นพื้นที่ส่งออกและนำเข้าบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ท่าเรืออื่นๆในภาคใต้ พื้นที่ส่งออกและนำเข้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย พื้นที่ภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี ตราด ระยอง พื้นที่ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก พื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีความต้องการที่จะพัฒนาเส้นทางเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประกาศใช้ระเบียงเศรษฐกิจเพื่อที่จะได้รับการดูแลจากทางภาครัฐทั้งในแง่ของการจัดสรรงบประมาณ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง กติกาต่างๆเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนา หรืออาจจะกล่าวให้เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจนคือ ระเบียงเศรษฐกิจก็คือเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบหนึ่ง เพียงแต่มีเนื้อที่มากกว่า กว้างขวางกว่า โดยเห็นได้จาก 1 ระเบียงเศรษฐกิจมักครอบคลุมมากกว่า 1 จังหวัดเสมอ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ อันประกอบไปด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นต้น สำหรับระเบียงเศรษฐกิจของไทยจะแบ่งออกเป็น 4 ภาคตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2564 ดังนี้[1] 1.ให้พื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน 2. ให้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต 3.ให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง – ตะวันตก หรือ Central – Western Economic Corridor: CWEC เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ ด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ กทม. และพื้นที่โดยรอบ และ EEC(Eastern Economic Corridor) หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก[2] ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มุ่งเน้นการพัฒนาเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งโลกสมัยใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมการบิน 4.ให้พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor: SEC เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนั้น มีองค์ประกอบการ 5 ด้าน ดังนี้ (1) การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน (2) การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ (3) การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ (5) การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยสรุป จากภาพ(https://aec10news.com/contents/special-report/160740/) จะเห็นได้ว่า ระเบียงเศรษฐกิจของประเทศไทยนอกจาก ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ยังมีระเบียงเศรษฐกิจที่ได้รับการประกาศของสำนักนายกเมื่อปี พ.ศ.2564 คือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง – ตะวันตก และ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ทุกระเบียงเศรษฐกิจเหล่านี้มีหน้าที่ในการร้อยเรียง ส่งเสริม เชื่อมต่อ เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 2 ระยะ 10 จังหวัดเข้าด้วยกันดังรายละเอียดที่จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป [1] https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=13017&filename=index(สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567) [2] โครงการภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกาศเริ่มใช้ในปี 2561(ผู้เรียบเรียง) * เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก ตำราของผู้เขียน รายวิชา RD9801 แนวคิดและทฤษฎีการสรา้งยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อ้างอิงบทความนี้วิกรม บุญนุ่น. (2567). ภาพรวมระเบียงเศรษฐกิจในประเทศไทย. รอบรั้ว NEC. (ออนไลน์). URL: https://kmnec.crurds.com/archives/87 มหายุทธศาสตร์สู่ระเบียงเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ NEC